Thursday, 29 August 2019

ว่าด้วยเรื่องปัญหาแบบฟอร์ม TM30 ที่ชาวต่างชาติ ที่ทำงานในไทย กำลังได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า


ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมานี้ ในกลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือกลุ่มที่เราเรียกว่า Expats ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องของแบบฟอร์ม ตม.30 หรือที่เรียกกันว่า TM30 ว่ามันเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่ม Expats เหล่านี้มาก โดยปัญหานี้จะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่ม Expats ต้องทำธุรกรรมติดต่อกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) เพราะว่าหากไม่มีการรายงานหรือส่งแบบฟอร์ม TM30 อย่างถูกต้อง ชาวต่างชาติคนนั้นจะไม่สามารถทำการขอต่อวีซ่าเพื่ออยู่ในประเทศไทยต่อได้

แต่ที่แย่กว่านั้น คือชาวต่างชาติรายนั้น ๆ ไม่สามารถที่จะเขียนแบบฟอร์มนี้เองได้ แต่เป็นคนไทยที่เป็นคนให้ที่พักพิงแก่ชาวต่างชาติคนนั้น ที่จะต้องเป็นคนเขียนแบบฟอร์ม และหากมีการยื่นแบบฟอร์มช้าหรือย้อนหลัง จะต้องเสียค่าปรับอีกต่างหาก เนื่องจากผมมีเพื่อนชาวต่างชาติกลุ่ม Expats เยอะมาก และเมื่อยกประเด็นนี้มาคุยกับกลุ่มคนไทยหลายคน หลายคนไม่ทราบว่ามีปัญหานี้เลย ผมเลยอยากจะเขียนสรุปให้ฟังว่าปัญหา TM30 นี้ มันแย่เพราะอะไร และทำไมมันอาจจะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ และเศรษฐกิจของประเทศเราได้





ก่อนอื่น เราจะต้องมารู้จักก่อนว่าแบบฟอร์ม TM30 นี้มันคือแบบฟอร์มอะไร

แบบฟอร์ม TM30 นี้เป็นแบบฟอร์มตาม พรบ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ซึ่งบอกไว้ว่าใครที่ให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวในประทเศไทย จะต้องแจ้งกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ตม. ท้องถิ่นของแต่ละที่ เอาจริง ๆ ฟังดูมันไม่ได้ลำบากอะไรมากหรอกครับ แต่จุดที่มันพีคจริง ๆ คือการแจ้งนั้น จะต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงจากการเข้าพัก แถมการแจ้งเข้าพักนี้ จะต้องแจ้งทุกครั้งที่ชาวต่างชาติคนนี้มีการเดินทางกลับมาจากการเดินทางไปต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ... ใช่ครับ คือถ้าคุณปล่อยเช่าคอนโดอยู่ แล้วทีนี้ผู้เช่าของคุณทำงานที่ Eastern Seaboard ที่ชลบุรี แต่เช่าคอนโดในกรุงเทพ คุณในฐานะผู้ปล่อยเช่าคอนโดนี้ จะต้องกรอกแบบฟอร์มนี้ส่งทุกวัน (บ้าเลือดจริง ๆ)

กรณีเดียวเท่านั้น ที่คุณในฐานะเป็นผู้ให้ที่พักพิงแก่ชาวต่างชาติคนนั้น ไม่ต้องส่งแบบฟอร์มรายงาน ก็คือกรณีที่ชาวต่างชาติที่คุณให้ที่พักพิง ไม่ได้ไปนอนที่ไหนเลย คือไม่ได้ออกไปต่างจังหวัด ไม่ได้ออกไปต่างประเทศ แต่อยู่คอนโดคุณยาว ๆ นอนคอนคุณทุกวัน แบบนี้ไม่ต้องยื่นแบบฟอร์มใหม่ แต่เมื่อไหร่ที่ชาวต่างชาติคนนี้ เดินทางไปทำธุระต่างประเทศ หรือแค่ไปชิลที่หัวหินช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เมื่อกลับมาที่คอนโดคุณ คุณจะต้องยื่นแบบฟอร์ม TM30 ใหม่อีกครั้ง
Image result for tm30
หน้าตาแบบฟอร์ม ตม. 30 หรือ TM30



แล้วตอนนี้มันมีปัญหาอย่างไร?

คืออย่างงี้ครับ จริง ๆ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เป็นหน้าที่ของผู้ให้ที่พักพิง หรือผู้ที่เป็นเจ้าของคอนโด เจ้าของโรงแรม ซึ่งจริง ๆ แล้วคนที่ทำกิจการโรงแรมก็ต้องรายงานกับ ตม. เป็นประจำอยู่แล้วตามหน้าที่ ทุกครั้งที่ลูกค้าเช็คอิน ก็ต้องทำ แต่สำหรับคนที่เป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของคอนโด ถ้าเรามีชาวต่างชาติมาเช่าเราอยู่เป็นเวลา 1 ปี ผมคิดไม่ออกเลยว่าเราจะมีหน้าที่รู้ไหมว่าผู้เช่าเราวันนี้ เผลอเดินไปกินข้าวแถวสมุทรปราการหรือเปล่า เราจะไปรู้ไหมว่าเดือนที่แล้วเขาแว้บไปค้างภูเก็ตสองคืนเพื่อไปเจอพ่อแม่ของเขา

ที่แย่เข้าไปอีก คือการยื่นแบบฟอร์ม TM30 นี้มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากการยื่น จะต้องไปยื่นที่ ตม. คือว่าง่าย ๆ ถ้าคุณเป็นเจ้าของคอนโดในกรุงเทพ คุณจะต้องเดินทางไปที่ ตม. แจ้งวัฒนะ ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าเราจะต้องยื่นปีละครั้ง ตามสัญญาเช่า มันอาจจะไม่ใช่ปัญหาอะไรมากมาย แต่ถ้าเราจะต้องไปยื่นทุก ๆ วัน เพราะชาวต่างชาติที่เป็นผู้เช่าของเราเที่ยวเก่ง ต้องไปทำงานต่างจังหวัดบ่อย ๆ เราก็คงต้องไปต่อคิวที่ ตม. เพื่อยื่นเรื่องนี้ทุกวัน ก็ไม่ต้องมีอันทำกินอะไรแล้วล่ะครับ

อ้อ ทาง ตม. บอกว่าจริง ๆ แล้ว แบบฟอร์ม TM30 นี้สามารถที่จะยื่นออนไลน์ได้ แต่ทราบหรือไม่ ว่าการยื่นออนไลน์นี้ เป็นออนไลน์เทียม เพราะว่าการยื่นออนไลน์นั้น การที่จะขอ username กับ password ใช้เวลานาน 2-6 สัปดาห์เลยทีเดียว เพราะว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ไม่ได้ออโตเมติก แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่พนักงานมาแมนนวลเช็คเอาทีละเคสไป (ไทยแลนด์ 4.0 ไหมครับ)

หากถามว่า แล้วถ้าเรามีเพื่อนต่างชาติกินเหล้าเมากัน แล้วจะค้างบ้านเราหนึ่งคืน จะทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย คำตอบก็คือเราก็ต้องไปยื่นแบบฟอร์ม TM30 แหละครับ แต่เอาจริง ๆ ไม่มีใครรู้หรอก ว่ามีเพื่อนชาวต่างชาติมาค้างที่บ้าน แต่ถ้าอยากทำถูกกฎหมาย วันต่อไปหลังจากที่เพื่อนมาค้างที่บ้าน ก็อย่าลืมไปต่อคิวยื่นเอกสารนี้ที่ ตม. แจ้งวัฒนะด้วยนะ (ความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย มันลดลง เพราะมันออกกฎอะไรที่ทำไมได้จริง คือไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมายหรอก แต่คือแค่ฟังตัวอย่างนี้ก็อยากจะหัวเราะเป็นภาษาตุรกีแล้ว)

Image may contain: phone
แอพอาจจะดูดี แต่ต้องรอเจ้าหน้าที่นานถึง 2-6 สัปดาห์

ผลกระทบกับชาวต่างชาติ

เราอาจจะเห็นว่าทุกครั้งที่เราคนไทย ไปเที่ยวต่างประเทศ เราจะต้องถ่อสังขารไปที่สถานทูตหรือ VFS เพื่อไปขอยื่นวีซ่า ต้องเตรียมเอกสารมากมายก่ายกอง หากย้อนมาดูที่ประเทศเรา ชาวต่างชาติอาจจะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเราได้อย่างง่ายดาย แต่ชาวต่างชาติอีกกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย กลุ่มคนที่จ่ายเงินเข้าระบบภาษีของประเทศเรา กลับจะต้องเจอปัญหาที่น่าปวดหัวไม่ต่างกับเราตอนขอวีซ่าไปเที่ยว เราก็ย่อมไม่อยากให้เกิดสิ่งแบบนี้กับเขา โดยเฉพาะอย่าง เมื่อมันจะกลับมาทำให้ประเทศเรา ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพของแรงงาน เพราะเราไปทำให้ทุกอย่าง “ยาก” โดยไม่มีเหตุผล

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือทุกครั้งที่ชาวต่างชาติจะไปยื่นเรื่องเพื่อขอต่อวีซ่าเพื่ออยู่ต่อในประเทศไทย จะไม่สามารถต่อได้ ที่หลาย ๆ ตม. คือมันตลกดีนะครับ ตม. แต่ละที่นั้นมีความเข้มงวดไม่เท่ากัน คือในหลายพื้นที่ ตม. อาจจะไม่ถามหาเอกสารแบบฟอร์ม TM30 เลย แต่ ตม. ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ นี้มีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก เมื่อ ตม. ถามชาวต่างชาติว่า “landlord ได้ยื่นแบบฟอร์ม TM30 หรือเปล่า” หากไม่มีการยื่นมาก่อน ทาง ตม. จะไม่ยอมต่อวีซ่าให้เลย จนกว่าผู้ที่ให้ที่พักพิง จะเดินทางมาเสียค่าปรับให้

ตอนนี้ หากผู้ให้ที่พักพิงที่เป็นเจ้าของบ้าน หรือคอนโด ไม่ทำการยื่นแบบฟอร์ม TM30 จะโดนค่าปรับ 800-2,000 บาท แต่ถ้าเป็นโรงแรมจะโดน 4,000 หรือ 8,000 บาท หากชาวต่างชาติโดนจับได้ว่าได้พักอาศัยโดยไม่มีการยื่นแบบฟอร์มอย่างถูกต้อง ชาวต่างชาติจะโดนปรับ 1,600 บาท
แบบฟอร์มนี้ อาจจะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวโดยตรง แต่จะกระทบกับกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศเรา และอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะยาวครับ แต่ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ต่างหาก ที่ประเทศเราต้องการเป็นอย่างมาก ในสภาวะที่ประเทศเราขาดแรงงานคุณภาพ และยังมีปัญหาประชากรที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วและน่าตกใจ


Image result for tm30 bangkok post front page
คำอธิบาย TM30 จากบางกอก โพสต์ (ปัญหานี้ลงหน้า 1 บางกอกโพสต์มาแล้ว)

แล้วกฎหมายนี้มันมีออกมาได้อย่างไร?

คือขั้นตอนยื่นแบบฟอร์มนี้ มันเป็นขั้นตอนที่มาจาก พรบ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าเรามาดูเวลาที่กฎหมายตัวนี้คลอดออกมาก็คงพอเข้าใจได้ ว่าตอนนั้นปัญหาของประเทศเราที่มีเกี่ยวกับชาวต่างด้าวมันเป็นปัญหาคนละชุดกับตอนนี้ ในตอนนั้นเราอาจจะเคยเป็นสนามรบ เป็นช่วงที่สงครามเวียดนามเพิ่งจบ เป็นช่วงที่เรากำลังมีการต่อสู้กับภัยคุกคามที่มาจากต่างประเทศ เช่น กลุ่มคอมมิวนิส ซึ่งเอาจริง ๆ กฎหมายตอนนั้นอาจจะถูกเขียนออกมาเพื่อแก้ปัญหาตรงจุด ณ วันนั้น
แต่วันนี้ สนามรบ มันเปลี่ยนไปเป็นสนามการค้าไปแล้ว ชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัย อาจจะไม่ใช่กลุ่มที่หนีเข้าประเทศมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นกลุ่มที่เข้ามาเพื่อมาทำงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างธุรกิจ และต่างมีการเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศเรา จ่ายเงินภาษีเข้าในระบบภาษีของประเทศเรา กฎหมายตัวนี้ที่ออกมาบนพื้นฐานที่มองชาวต่างด้างเป็นสิ่งที่ต้องคอยเฝ้าระวัง มันเปลี่ยนไป และการสอดส่องหาภัยที่มาจากชาวต่างด้าว มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันใช่ว่าผู้ให้พักพิงจะใกล้คิดกับผู้ให้เช่าเสมือนเป็นผู้ที่พักอยู่ในบ้านเดียวกันอีกต่อไปแล้ว

มันก็ไม่ต่างกับไอ้กรณีแบบฟอร์ม TM6 หรือแบบฟอร์ม ตม. 6 แหละครับ ที่เมื่อปีที่ผ่านมานี้เองมีการประกาศยกเลิก ว่าคนไทยไม่ต้องเสียเวลากรอกแบบฟอร์มนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะว่าแบบฟอร์ม ตม. 6 นี่มีแต่ถามข้อมูลพื้นฐานว่าคนที่เดินทางผ่านเข้าและออกอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยนั้น มีชื่อมีแส้อะไร ซึ่งข้อมูลทุกอย่างที่มีบนแบบฟอร์ม ตม. 6 นี้ ต่างเป็นข้อมูลที่รัฐบาลของเราย่อมมีหมดแล้ว หากบุคคลที่กรอกแบบฟอร์มนี้เป็นคนสัญชาติไทย แบบฟอร์มนี้เลยกลายเป็นขยะ ที่ทำให้คนกรอกต้องเสียเวลา และคนเก็บก็ไม่อยากเก็บ กาลเวลา มันทำให้แบบฟอร์มที่คลอดออกมาตามกฎหมายเก่า ๆ มันล้าสมัยและขาดความจำเป็น

ถามว่าทุกวันนี้ หากมีชาวต่างด้าวที่เป็นคนสร้างปัญหาจริง อยู่ในประเทศไทย ตม. เองก็สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว ว่าชาวต่างด้าวที่สร้างปัญหา หรือเป็นอาชญากร อยู่อาศัยในประเทศไทย หรือพยายามเข้ามาประเทศไทยผ่านจุดไหน เพราะว่าทุกจุดเข้า-ออก ก็มีการตรวจพาสปอร์ตอยู่แล้ว จุดอ่อนจุดเดียวจริง ๆ คือเมื่อชาวต่างด้าวที่เป็นปัญหาเข้ามาได้แล้ว เราอาจจะตรวจสอบไม่ได้ว่าชาวต่างด้าวคนนี้อยู่ที่ไหนในประเทศไทย แต่ถ้าถามผมนะ คนเป็นอาชญากรจริง ที่เข้ามาอยู่ในประเทศเราได้แล้ว คงไม่ยอมยื่นแบบฟอร์มนี้ถูกต้อง และคงไม่อาศัยในสถานที่ที่ต้องยื่นแบบฟอร์มเหล่านี้อยู่แล้วแน่นอน ทุกวันนี้ชาวต่างด้าวที่อยู่ในไทย ต้องยื่นแบบฟอร์มอีกมากมาย เช่น แบบฟอร์ม TM47 ซึ่งต้องทำการกรอกและยื่นให้กับ ตม. ทุก ๆ 90 วันอยู่แล้ว เพื่อแจ้งว่าไม่ได้เปลี่ยนที่พักพิง หากมีการเปลี่ยนแปลง จะต้องยื่นแบบฟอร์ม TM28 อีก คือถ้า ตม. ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง 100% จริง แบบฟอร์ม TM30 ถ้ายื่นไปแล้ว จะมี TM47 อีกไปทำไม (วะ)

คือว่าง่าย ๆ ปัญหานี้เป็นกฎหมายที่บังคับเจ้าของบ้าน หรือเราคนไทยเนี่ยล่ะครับ แต่คนได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยทำงานในประเทศไทย แต่ด้วยความยากลำบากในการทำให้ถูกกฎหมาย เลยไม่มีใครทำ และทาง ตม. เองอาจจะเคยเห็นว่ามันยุ่งยาก ก็ได้ปิดตาข้างเดียวมาตลอด จนกระทั่งวันนี้อยู่ดี ๆ อยากจะเริ่มเอากฎหมายตัวนี้มาใช้งานไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร
แล้วตอนนี้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง

อันนี้เป็นเรื่องที่น่าขันที่สุดครับ เพราะว่าทาง ตม. เองได้ออกมายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าต่อหน้ากลุ่ม Expats ว่าแบบฟอร์มนี้มีความจำเป็น และยังจะต้องมีต่อไป แล้วยังยืนยันอีกว่าขั้นตอนการยื่นแบบฟอร์มนี้ไม่ได้ยากอะไร (แม้ว่าจะต้องรอนานถึง 6 สัปดาห์) ทาง ตม. เมื่อโดนกลุ่มชาวต่างชาติถามในงานของ FCCT ว่า “ไม่คิดว่ามันลำบากไปเหรอ ที่ทุกครั้งที่ชาวต่างชาติออกไปท่องเที่ยวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วทางผู้ให้เช่า จะต้องยื่นแบบฟอร์มนี้ใหม่” ทาง ตม. กลับตอบคำถามว่า “ก็เที่ยวให้น้อยลงสิ ถ้าไม่อยากต้องกรอกแบบฟอร์ม” ... อันนี้เราก็ไม่รู้ว่าต้องการกวนตีน หรือมองไม่เห็นปัญหาจริง ๆ ส่วนบางคนที่ถามทาง ตม. ว่าทำไมไม่ให้ตัวชาวต่างชาติยื่นเองไปเลย จะได้ไม่รบกวนเจ้าของบ้าน ทาง ตม. ก็บอกว่า “ให้เอา username กับ password ของเจ้าบ้านมากดเองเลยสิ” ซึ่งแม่งก็เป็นคำตอบที่ไม่ไหว
ชัดเจนเลยครับ ว่าเราไม่ได้ซีเรียสกับสโลแกนจอมปลอม ว่าไทยแลนด์ 4.0 เลย

ผมก็ต้องขอจบที่ว่า หากมี ส.ส. หรือผู้ใดที่มีอำนาจ แล้วหลงมาอ่านบทความนี้จนจบ ฝากเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาด้วยครับ ผมว่ามันเป็นปัญหาทางด้านเทคนิค ที่ต้องได้รับการแก้ไข มันมีผลกระทบรุนแรง และมากโขอยู่ มันทำให้ประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศเราดูแย่ในสายตาของชาวต่างชาติ มันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของตัวชาวต่างชาติ ที่จะต้องให้รัฐบาลเรารู้ตลอดว่าชาวต่างชาติ “ไปไหนมา” ในเมื่อหน่วยงานรัฐของเรายังไม่มีนโยบายที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นของประชาชนตัวเอง หรือชาวต่างชาติก็ตาม อีกทั้งมันเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด คือเป้าหมายของกฎหมาย มันเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยที่เกิดจากชาวต่างด้าว แต่ตอนนี้คนได้รับผลกระทบ คือชาวต่างด้าวที่พยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้อง กับคนไทยที่เป็นผู้ให้เช่าบ้านหรือคอนโดให้แก่ชาวต่างชาติ คนเลวอย่างไรก็มีวิธีหายตัวในประเทศไทยได้ไม่ยากหรอก แต่คนดีเนี่ยสิ กลับต้องมารับภาระทางด้านเอกสาร

ถึงแม้ปัญหานี้ไม่ได้กระทบกับเราโดยตรง 100% แต่เราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนที่เรารู้จัก หรือกับประเทศของเรา ในเมื่อมันไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผล ทุกครั้งที่ได้ยินชาวต่างชาติที่บ่นเรื่องนี้ เราก็อดนึกภาพคนไทยอย่างเราที่ต้องหอบเอกสารไปต่อคิวขอวีซ่าก่อนไปเที่ยวต่างประเทศ

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ

เกี่ยวกับแบบฟอร์ม TM30 (สั้นๆ)

  • ชาวต่างชาติที่มี Permanent Residence กับประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าของบ้าน ยื่นแบบฟอร์ม ตม. 30
  • ชาวต่างชาติที่มีวีซ่าผูกกับบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จาก BOI ไม่จำเป็นต้องยื่นแบบฟอร์ม TM30 แต่ทางบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์ ควรจะยื่นแบบฟอร์มนี้ให้แก่ตัวชาวต่างชาติคนนั้น ๆ
  • นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วไป ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะปรกติแล้วโรงแรมจะยื่นแบบฟอร์มเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว เว้นแต่กรณีที่เป็น Airbnb หรือบ้านเช่า หรือพักอาศัยกับเพื่อนชาวไทยที่รู้จัก ซึ่งเพื่อนชาวไทยที่ให้ที่พักพิงจะต้องส่งแบบฟอร์ม TM30
  • วิธียื่นแบบฟอร์ม TM30 สามารถยื่นได้ที่ ตม. ท้องถิ่นตามแต่ละจังหวัด สำหรับ กทม เป็นที่ตรวจคนเข้าเมือง แจ้งวัฒนะ แต่แบบฟอร์มสามารถส่งได้ผ่านทางไปรษณีย์ หรือออนไลน์ก็ได้
  • ขั้นตอนการยื่นแบบฟอร์ม TM30 คือผู้ยื่น จะต้องแนบเอกสารเหล่านี้ไปด้วย ตัวแบบฟอร์ม ตม. 30, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัตรประชาชน, สัญญาเช่า, หน้า Biopage ของพาสปอร์ตชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย, และสำเนาแบบฟอร์ม TM6
อยากอ่านหาข้อมูลเพิ่มเติม?

No comments:

Post a Comment