Monday, 3 July 2017

10 ปัญหา "ชั้นธุรกาก เอ้ย ธุรกิจ Royal Silk Class" ที่การบินไทยต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

หลังจากที่ Skytrax ปีนี้ได้ประกาศรางวัลสายการบินดีเด่นต่าง ๆ รอบโลกประจำปี พบว่าการบินไทย สายการบินประจำชาติของเรานั้นได้รับรางวัล "ชั้นประหยัดดีเด่น" ประจำปี 2017 ซึ่งในส่วนนี้การบินไทยได้ออกมาประโคมข่าว ทำการประชาสัมพันธ์กันด้วยความภาคภูมิใจ แต่สิ่งที่การบินไทยไม่ได้พยายามพูดถึงคือในปี 2017 นี้ การบินได้เป็นสายการบินดีเด่นอันดับที่ 11 ของโลก จากเดิมที่เคยอยู่ใน Top 5 ได้

การบินไทยได้รับรางวัล "ชั้นประหยัด" ดีที่สุดในโลกประจำปี 2017
รายชื่อสายการบินดีเด่นของโลกประจำปี 2017 โดย Skytrax ได้แก่
  1. Qatar Airways (กาตาร์)
  2. Singapore Airlines (สิงคโปร์)
  3. ANA All Nippon Airways (ญี่ปุ่น)
  4. Emirates (อาหรับเอมิเรตส์)
  5. Cathay Pacific (ฮ่องกง)
  6. EVA Air (ไต้หวัน)
  7. Lufthansa (เยอรมนี)
  8. Etihad Airways (อาหรับเอมิเรตส์)
  9. Hainan Airlines (จีนแผ่นดินใหญ่)
  10. Garuda Indonesia (อินโดนิเซีย)
  11. Thai Airways (ไทย)
จะเห็นได้ว่า การบินไทยไม่สามารถสู้ได้แม้กระทั่งสายการบิน Garuda จากประเทศเพื่อนบ้านเรา อินโดนิเซีย ซึ่งเป็นสายการบินที่ช่วงหนึ่งถือเป็นสายการบินที่แย่และอันตรายรายหนึ่งของโลกมาก่อน (ถึงขั้นยุโรปแบน) 

ที่สำคัญอีกอย่าง Skytrax ยังให้การบินไทย เป็นสายการบินสี่ดาวมานานมาก ในขณะที่ Garuda เอง ได้เป็นสายการบินห้าดาวแล้ว เช่นเดียวกับสายการบินเพื่อนบ้านอย่างสายการบินสิงคโปร์แอรไลน์ (ในส่วนของการเป็นสายการบินห้าดาวได้ จะต้องทำอย่างไร สรุปสั้น ๆ คือคะแนนทุกด้านต้องอยู่ในเกณฑ์ดีหมด ตั้งแต่อาหาร, การบริการภาคพื้นดิน, เล้าจ์, เก้าอี้, และตัวพนักงาน) 

หากอ้างอิงจาก Skytrax เราจะพบว่าการบินไทยมีจุดอ่อน (ไม่เจาะจง) ตามนี้
  • ชั้น Business Class ไฟลท์ยาว (Long haul)
  • ระดับสกิลการสื่อสารของพนักงาน
  • เล้าจ์ Business Class เรื่องความสะอาด การตกแต่ง กับอาหารและเครื่องดื่ม
ถ้าจะเจาะลงรายละเอียดลึกไปกว่านี้ คงจะต้องไปอ่านรีวิวของ Skytrax ทีละอัน แต่ทาง Skytrax เองก็ไม่ได้มีข้อมูลบอกว่าเหตุใดทำไมการบินไทยถึงได้คะแนนต่ำในส่วนเหล่านี้ แต่สังเกตได้เลยว่าหากเราไม่นับเรื่องสกิลการสื่อสารของพนักงานแล้ว ชั้นธุรกิจ Royal Silk Class ของการบินไทย เป็นชั้นโดยสารที่ทำให้การบินไทยนั้นได้เรทติ้งที่แย่

ในฐานะลูกค้าคนหนึ่ง ที่พอได้มีโอกาสใช้ชั้นธุรกิจของการบินไทยทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศซีกเอเชียและออสเตรเลีย ผมขอเขียนถึงปัญหาที่เจอกับตัวเองและเห็นว่าการบินไทยควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วนตามนี้ครับ

(1) Fast Track สำหรับลูกค้าการบินไทยหลายครั้งกลายเป็น Slow Track


ช่องที่ผ่านการผ่าน Security Check และ Passport Control (ตม.) สำหรับลูกค้าการบินไทยที่เช็คอินบริเวณแถว A-B หลาย ๆ ครั้ง เมื่อใช้งานแล้วจะพบว่ามันให้บริการช้าอย่างไม่จำเป็น

ช่วงที่มีผู้โดยสารน้อย กลายเป็นว่า Security Check รอนานเพราะเปิดอยู่คิวเดียว และไปเจอ Passport Control ที่มีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประจำเค้าท์เตอร์อยู่เพียงคนเดียวหรือสองคนเท่านั้น บางครั้งซวยซะอีกเมื่อฝรั่งที่เข้าคิวอยู่ข้างหน้าเรา Overstay ทำให้เจ้าหน้าที่ ตม. ต้องพาไปปรับ แล้วไม่มีคนมาประจำเค้าท์เตอร์อีกซักพัก

(2) อาหารในเล้าจ์ชั้นธุรกิจทุกเล้าจ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิแย่มาก

ในส่วนของห้องรับรอง หรือเล้าจ์การบินไทยในระดับชั้นธุรกิจ ต้องบอกได้เลยว่ามีปัญหาหลายอย่าง แต่หลาย ๆ เรื่องไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรงเท่ากับปัญหาอาหารที่มีให้บริการ ซึ่งต้องเรียกว่าอยู่ในระดับที่น่าผิดหวัง หากเปรียบเทียบกับสายการบินคู่แข่ง

สนามบินสุวรรณภูมิ คือสนามบิน Home Airport ของสายการบินไทย ซึ่งในส่วนนี้การบินไทยมีความได้เปรียบเหนือกว่าสายการบินอื่นที่ให้บริการ ณ สนามบินสุวรรณภูมิในเรื่องของการเข้าใช้พื้นที่และการให้บริการต่าง ๆ เนื่องจากว่าเป็นเจ้าถิ่น

อาหารที่การบินไทยเสิร์ฟในเล้าจ์ Royal Silk Class แต่ละเล้าจ์ จะพบว่าเป็นอาหารประเภท Pastry หรืออาหารแป้ง ๆ แห้ง ๆ เสียส่วนใหญ่ เช่น เดนิช, พายไก่, พายเห็ด, แซนวิช (อันนี้ของคลาสสิกการบินไทย) ซึ่งเป็นอาหารที่ต้นทุนต่ำ ในส่วนของอาหารอีกประเภทที่ระยะ 5-6 ปีให้หลังการบินไทยได้นำมาเสิร์ฟเป็นประจำทั้งเล้าจ์ฝั่งอินเตอร์และฝั่งภายในประเทศ คือ "ติ่มซำ CP" ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าใครให้ผ่าน ทำไมเห็นว่ามันเหมาะสมกับการให้บริการลูกค้า Royal Silk โดยเฉพาะระดับระหว่างประเทศ?

อาหาร Signature เล้าจ์การบินไทย: พายไก่, คีช และ ติ่มซำ CP
ของ CP แท้แน่นอน มีวันเดือนปี หมดอายุด้วย
ระยะหลัง ๆ ผมเห็นการบินไทยได้มีความพยายามมากขึ้นในการเอาใจลูกค้าในส่วนของเล้าจ์ D นั่นก็คือการเพิ่มเมนูพิเศษเฉพาะเวลาที่ตรงกับมื้ออาหาร แต่พอมาดูว่าการบินไทยเสิร์ฟอะไรก็อดรู้สึกถึงความผิดหวัง และละเหี่ยใจไม่ได้ ก็คือสิ่งที่เสิร์ฟ ก็มักจะเป็นเมนูประหยัดมากถึงประหยัดที่สุด ได้แก่ ข้าวต้มเศษหมู, มาม่า, ไส้กรอกห่อขนมปัง, หรือไม่ก็ Wrap ต้มยำ/เขียวหวาน, ไส้กรอก, หอยจ้อ

น่าเสียดายอย่างมาก เมืองไทยเราเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยอาหารไทยแสนอร่อยที่คนทั่วโลกกำลังนิยม แต่การบินไทยสามารถให้บริการลูกค้าในเล้าจ์ได้เพียงเท่านี้? 

Wrap เขียวหวาน และ Wrap ต้มยำ มิติใหม่ของอาหารไทยลูกครึ่ง
มันน่าตลก เพราะว่าเล้าจ์ของสายการบินอื่น ๆ ในกรุงเทพ กลับสามารถทำได้ดีกว่ามาก เช่น เล้าจ์ของ EVA Air (แนะนำอ่านลิงก์นี้ครับ ดูว่าเขาจัดเต็มขนาดไหน), หรือเล้าจ์ของ Singapore Airlines ของการบินไทยที่ กทม เรียกได้เลยว่า "น่าอับอายมาก" 

ป.ล. ในส่วนของเล้าจ์ Royal First การบินไทยอันนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของการบินไทย ทำได้ดี คนใช้บริการไม่มาก ไม่แออัด และก็มีอาหารตามสั่งจากเมนูบน iPad แถมมีบริการ Spa ที่เยอะและยาวกว่าเมนูฟรีของชั้น Royal Silk

(3) เล้าจ์ชั้นธุรกิจการบินไทยช่วง Peak แออัด ไม่มีที่นั่ง และร้อน

มันมีจริง ๆ ครับ เวลาที่เล้าจ์การบินไทยทุกอัน C, D, E มีผู้ใช้บริการจนเต็ม จนต้องมีพนักงานคอยเดินหาที่นั่งให้ลูกค้า และช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เล้าจ์จะมีปัญหาเรื่องอากาศร้อนมาก จนต้องมีการเอาแอร์หรือพัดลมเคลื่อนที่มาเสริม ช่วงนี้ใครได้เห็นบอกเลยว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนคงอยากจะหนีไปสายการบินอื่นจะแย่อยู่แล้ว

การบินไทย ควรปรับปรุงเล้าจ์อย่างเอาจริงเอาจังเสียทีในส่วนนี้ เพราะเล้าจ์ของการบินไทยเกือบทุกแห่งในประเทศไทยตอนนี้มีปัญหาเดียวกันหมดคือ มีความเก่า เน่า คับแคบ และเก้าอี้ชอบจับกลุ่มเป็น 4 ตัว ซึ่งทำให้นักเดินทางหลายรายที่เดินทางคนเดียวหรือสองคน สุดท้ายก็ต้องเหมานั่งโต๊ะสำหรับ 4 คนไปอย่างไม่จำเป็น การบินไทย ควรที่จะเพิ่มโต๊ะนั่งประเภทโต๊ะบาร์ หรือโต๊ะยาว ที่กินที่น้อยกว่า แต่จุจำนวนคนได้มากกว่าได้แล้ว

Lounge D เมื่อไม่มีที่นั่งให้ลูกค้า
บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นเพราะการบินไทยมีการทำ Co-campaign กับบริษัทบัตรเครดิตหลายรายมากเกินไป ในส่วนนี้ผมไม่อยากออกความเห็นมากมายครับเพราะว่าผมไม่มีข้อมูล แต่การบินไทยได้ทำถูกแล้ว ในส่วนของการแยกเล้าจ์ระหว่างเล้าจ์ที่ใช้รองรับลูกค้าที่ใช้บริการ Royal Silk จริง ๆ กับเล้าจ์ที่ให้บริการลูกค้าบัตรทอง ROP และ/หรือบัตรเครดิต Co-branding

(4) เล้าจ์การบินไทยไม่มีช่องปลั๊กและช่องชาร์จมือถือที่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย

อันนี้ปัญหาที่เกิดจากความเก่าและไม่ทันสมัยของเล้าจ์การบินไทย ซึ่งตอนนี้กลายเป็นสิ่งเบสิกที่ทุกเล้าจ์ควรจะมีได้แล้ว ปัญหานี้อาจจะต้องรอจนกว่าการบินไทยตัดสินใจแก้ไขปัญหาจากข้อ 3 ด้วยการลงมือปรับปรุงเล้าจ์ของตัวเองเสียที

(5) เมื่อถึงประตู การบินไทยไม่มีจัดสรรหรือคัดแยกผู้โดยสาร Royal Silk กับผู้โดยสารธรรมดาอย่างชัดเจน

อันนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับการบินไทยอย่างมาก ที่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ซึ่งตามสิทธิสามารถเลือกที่จะขึ้นเครื่องเมื่อไหร่ก็ได้ สุดท้ายแล้วต้องมาต่อคิวรวมกับผู้โดยสารชั้นประหยัด เพราะว่าการบินไทยไม่มีระบบจัดสรร ไม่มีป้าย ที่บอกให้ผู้โดยสารชั้นธุรกิจสามารถขึ้นเครื่องได้ก่อน

ปัญหานี้ส่วนใหญ่จะเกิดเมื่อเดินทางภายในประเทศที่สนามบินภูเก็ต หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนของสนามบินเชียงใหม่จุดนี้ยังพอเดินเลาะไปหน้าเค้าท์เตอร์ได้บ้าง

สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ปัญหามักจะเกิดตรงจุดที่มีการสแกนอ่าน Boarding Pass หลังจากที่เดินลงมาตรงทางเดินลาดลงก่อนถึงบริเวณนั่งรอเครื่องบิน ซึ่งจุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่มาจากการออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิก็เป็นได้ คือจุดนี้ทุกคนไม่ว่าจะเดินทางชั้นไหนก็ตาม จะโดนบีบให้ต่อคิวบริเวณใต้ทางเดินแบบแปลก ๆ งง ๆ แล้วก็มีคนคอยสแกน Boarding Pass เพียงแค่คนเดียวในหลาย ๆ ครั้ง

(6) เหยดแหม่! ตอนจองได้ A350-900 บินจริงได้ลำเก่า B777 โว้ยยยยย

มันมีนะครับ ผู้โดยสารที่เลือกที่จะบินการบินไทย เพราะว่าบนหน้าเว็บมันเป็นเครื่องบินลำใหม่ เก้าอี้ใหม่ ตอนผมจะบินไปเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ตอนกดจองตั๋วจำได้แม่นเลยว่ามันเป็นเครื่องบิน A350-900 ที่เก้าอี้ชั้นธุรกิจเป็นแบบ Herringbone ที่จัดเก้าอี้แบบ 1-2-1 แต่พอบินจริง กลับได้ชั้นธุรกาก จัดเก้าอี้แบบ 2-3-2 ที่ทุกวันนี้ไม่ควรใช้เป็นชั้นธุรกิจที่ใช้บินระยะไกลกว่า 6 ชั่วโมงแล้วด้วยซ้ำ

การบินไทย เมื่อมีการสลับเครื่องบินมาใช้ลำอื่นที่ลูกค้าไม่ได้จอง อย่างน้อยควรจะมีการแจ้งลูกค้าให้ทราบทางอีเมลด้วย อย่างน้อยที่สุดลูกค้าก็จะได้ทำใจ เพราะว่าสินค้าชั้นธุรกิจที่เป็น Hard Product ของการบินไทย ซึ่งก็คือตัวเครื่องบินและเก้าอี้ที่มีให้บริการบนเครื่องบิน มันมีหลายชนิดหลายรูปแบบเหลือเกิน และแต่ละแบบก็ให้ความสบายที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

สิ่งที่คาด

กับ ... สิ่งที่ได้
(7) บินชั้นธุรกิจ แต่บริการก่อนเครื่องออกไม่ต่างกับชั้นประหยัด

ใครบินสายการบินอาหรับบนชั้นธุรกิจ อาจจะทราบดีครับว่าชั้นธุรกิจสมัยนี้ พนักงานควรจะมีการแนะนำตัวก่อนว่าชื่ออะไร และถามลูกค้าว่าอยากจะดื่มอะไร และอยากได้ผ้าร้อนหรือผ้าเย็น ... แต่การบินไทยอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากคู่แข่งอย่าง AirAsia X เลยอยากให้บริการก่อนเครื่องออกจากท่าอากาศยานรวดเร็วและประหยัดเวลามากขึ้น โดยการยื่นผ้าร้อนให้ลูกค้าเลย (ถ้าโชคดี ผ้าร้อนจะกลายเป็นผ้าเย็น) 

ส่วนเครื่องดื่มต้อนรับลูกค้าบนเครื่อง ก็จะมาบนถาดที่พนักงานยื่นมาให้ ถ้าบนถาดมีอะไร ก็หยิบอันนั้น ถ้าไม่มี ก็รอการเสิร์ฟรอบ Aperitif นะ จนตอนนี้เลยไม่รู้ว่าการบินไทยจะเสิร์ฟแชมเปญก่อนเครื่องออกจากท่าอากาศยานได้หรือไม่

ข้อดี คือการบินไทยมีชามะขาม อร่อยดี

(8) การเสิร์ฟอาหารบนเครื่องเมื่อบินไฟลท์ยาว เลือกเวลากินไม่ได้!

เช่นกัน ใครได้บินสายการบินอาหรับ อาจจะทราบดีว่าลูกค้าสามารถเลือกเวลาที่อยากจะกินข้าวได้ เพราะแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางคนอยากจะหลับตั้งแต่เหยียบเข้ามาบนเครื่องบินเลย แล้วอยากจะกินข้าวก่อนเครื่องลงแป๊บเดียว ในขณะที่บางคนหิวเลย เครื่องขึ้นแล้วก็อยากกินทันที ในส่วนนี้สายการบินอาหรับหลายสายการบิน สามารถให้คุณได้ เลือกเลยว่าอยากกินอะไร เวลาไหนได้หมด

แต่การบินไทยทำไม่ได้ครับ ไม่รู้ว่าการเตรียมอาหารของการบินไทย สำรับไทยนี่มันยากกว่าหรือไม่ ทำไมการบินไทยเวลากินเราต้องกินพร้อม ๆ กันทุกคน

Update: ท่านหนึ่งบอกมาว่าพยายามอย่าถามพนักงานว่าทำได้ไหม ให้สั่งเลยว่าจะกินอันนี้ตอนนี้ๆๆ

ชั้นธุรกิจ Qatar Airways: กินเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกตามใจ!

ชั้นธุรกิจการบินไทย: จงกินเมื่อฉันเสิร์ฟ
(9) พนักงานเสิร์ฟอาหารเป็นถาด คล้ายชั้นประหยัด

นี่อาจจะเป็นอะไรที่เรื่องมากไปนิด แต่เช่นกัน ความคาดหวังของลูกค้าในยุคนี้สูงขึ้น แต่การบินไทยยังคงเสิร์ฟอาหารบนชั้นธุรกิจเป็นถาด ๆ ไม่ต่างกับชั้นประหยัด นั่นก็คือพนักงานบางครั้งจะเข็นรถเข็นมาที่เก้าอี้ของผู้โดยสาร จากนั้นก็วางถาดลงบนโต๊ะ โดยบนถาดนี้จะมีสลัด, ช้อนส้อม, เกลือพริกไทย, และเนย กับ Appetizer วางอยู่บนถาดแล้ว บางครั้งก็ถือถาดออกมาโดยไม่ใช้รถเข็น (แต่ก็ยังเป็นถาด)

จากนั้นสักครู่ ก็จะมีพนักงานคนนึงซึ่งได้รับหน้าที่เป็น Muffin Man จะเดินมาคอยเสิร์ฟขนมปัง

สำหรับสายการบินชั้นนำอื่น ๆ หลายสายการบิน โดยเฉพาะรายที่ได้อันดับสูง ๆ เดี๋ยวนี้การให้บริการอาหาร จะเป็นลักษณะที่ไม่ต่างกับร้านอาหารบนดินครับ คือพนักงานจะเดินมาที่เก้าอี้เราหลายรอบหน่อย รอบแรกพนักงานจะมาวางผ้าปูโต๊ะ ผ้ากันเปื้อน และมาวางส้อม มีด ตะกร้าขนมปัง เนย อะไรให้เราก่อน จากนั้นก็จะเสิร์ฟอาหารเป็น Course ไปทีละรอบ มีการเปลี่ยนช้อนส้อมมีดให้ทุก ๆ Course และเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็จะมาทีละครั้งที่พนักงานเดินมาหา ไม่ใช่มาบนรถเข็นแบบการบินไทย

ชั้นธุรกิจ Qatar Airways: พนักงานมาปูโต๊ะให้ หยิบของลงทีละชิ้น วางตำแหน่งเรียบร้อย

ชั้นธุรกิจการบินไทย: นี่ไง ถาด ... รับขนมปังไหมคะ?
(10) เก้าอี้นอนราบไม่จริง ออกแบบมีปัญหา

อันนี้เป็นปัญหาสำหรับเก้าอี้ชั้นธุรกิจบนเครื่องบินการบินไทยหลายลำ ที่ไม่ใช่ลำใหม่ B777-300ER, A380, A350 หรือ B787 คือเก้าอี้บนชั้นธุรกิจ หากเป็นเก้าอี้ที่คนชอบเรียกว่า "เก้าอี้หอย" ก็จะเป็นเก้าอี้ที่เมื่อผู้โดยสารปรับนอนราบแล้ว จะเป็นการนอนแบบราบ 180 องศาก็จริง แต่มันจะสไลด์ลงมาด้านหน้าเล็กน้อย ทำให้เกิดอาการ "ไหล" แต่ถ้าผู้โดยสารสามารถเอาเท้ายันที่วางเท้าได้ ก็อาจจะตื่นเพราะอาการเหน็บชาแทน

ถ้าเป็นเก้าอี้ "หอยปลอม" ก็จะเป็นเก้าอี้ที่นอนได้ดีขึ้นกว่านิดนึง เพราะว่าถึงแม้มันจะไม่ใช่เก้าอี้ที่นอนรับได้ 180 องศา แต่อย่างน้อยก็จะไม่มีการสไลด์ลง แต่จะมีปัญหาเรื่องที่พักแขน ซึ่งผมมั่นใจว่า 95% พังเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถปรับให้มันอยู่กับที่ได้

เก้าอี้หอย นอนแล้วเหมือนเล่นสไลด์เดอร์
สรุป

สำหรับปัญหาบางข้อ อย่างเช่นปัญหาในข้อ 4 และข้อ 10 ผมทราบดีว่า การบินไทยเอง ก็ทราบถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข สังเกตได้จากการที่การบินไทยได้เปลี่ยนดีไซน์เก้าอี้ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามปัญหาอีกหลาย ๆ ปัญหา ค่อนข้างชัดเจนเลยว่าการบินไทยยังตามหลังคู่แข่งอยู่มาก

ส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับ Skytrax ว่าชั้นธุรกิจ คือจุดอ่อนหลักของการบินไทย ที่การบินไทยต้องเร่งทำการแก้ไข หากต้องการที่จะมีการจัดอันดับอยู่ในระดับที่สูงขึ้น และเพื่อขยับขึ้นมาเป็นสายการบินห้าดาวเช่นเดียวกับสายการบินอาหรับ และสายการบินของประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเรา ในขณะที่จุดแข็งของเรายังคงเป็นบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นประหยัด 

ขออภัยผู้อ่านหลายท่านครับ โพสต์นี้อาจจะเป็นโพสต์บ่นที่จู้จี้ น่ารำคาญ ฟังดูเรื่องมาก แต่มันเป็นการบ่นที่เกิดจากความพยายามที่จะเขียนเรื่องนี้หลายรอบแล้ว แต่ไม่ได้เขียนซะที และก็เป็นความที่เราอยากให้สายการบินประจำชาติของเรา ทำได้ดี ในสายตาคนบนโลก และก็เรื่อง "กรูจ่ายเงินกรูก็อยากได้ของดีๆโว้ยยยยย" 55555

 หวังว่าโพสต์นี้จะผ่านหน้าพนักงาน หรือผู้บริการของการบินไทยบ้างนะครับ

No comments:

Post a Comment