Saturday, 21 March 2015

เมื่อฟินแลนด์ ประเทศที่เรียกได้ว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกกำลังปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่

ทุกครั้งเวลาเรามีการจัดอันดับเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพของการศึกษา เราจะเห็นประเทศไม่กี่ประเทศที่จะครองตารางด้านบน ๆ อยู่เสมอ โดยฝั่งเอเชียเราจะได้เห็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง แต่จากฝั่งยุโรปแล้วจะมีประเทศหนึ่งที่โผล่มาอยู่เสมอ นั่นก็คือฟินแลนด์



แล้วทำไมการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ถึงดีกว่าประเทศอื่น?

หลายประเทศได้หันมามองว่าฟินแลนด์ทำอย่างไร ทำไมคุณภาพของนักเรียนที่จบจากฟินแลนด์ถึงได้สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ อย่างมาก หากวัดจากการสอบวัดมาตรฐานนักเรียนรอบโลกของ PISA

คำตอบคือ ระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการสอน การเรียนรู้ มากกว่าขั้นตอนการสอบ 
หากเปรียบเรียบกับอเมริกาในช่วงระดับอนุบาลและระดับประถม นักเรียนในฟินแลนด์ จะมีเวลาพักเพื่อให้เด็กได้เล่นกันในช่วงกลางวันมากกว่าในสหรัฐอเมริกามาก (75 นาทีต่อวัน เทียบกับอเมริกาที่ให้แค่ 27 นาทีต่อวัน) อ้อ การเรียนระดับอนุบาล ฟินแลนด์ไม่ได้บังคับ แต่ผู้ปกครองสามารถส่งนักเรียนเข้าเรียนอนุบาลได้

ฟินแลนด์ ยังให้ความสำคัญกับการให้นักเรียนในระดับอนุบาล และประถม ได้เรียนรู้ด้วยการทำจริง และเน้นเรื่องการประดิษฐ์ของเล่นอย่างเลโก้ ตัวต่อ หรือถ้าเริ่มมีอายุมากหน่อย ก็เริ่มให้ประดิษฐ์ศิลปะเป็นชิ้นเป็นอันออกมา ในขณะที่การเรียนการสอนวิชาประเภทคณิตศาสตร์และการอ่านและเขียน กลับถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าในโรงเรียนของฟินแลนด์

สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ระดับ ป.1 - ม.3 นักเรียนในฟินแลนด์ทุกคนจะได้ทำการทดลองอย่างเต็มที่ เพราะว่าห้องเรียน 1 ห้องจะต้องมีนักเรียนไม่เกิน 16 คน ในขณะที่นักเรียนยังจะต้องเรียนวิชาการทำอาหาร งานช่างไม้ ช่างเหล็ก ดนตรี ตั้งแต่ ม.1 เป็นต้นไป เป็นจำนวนประมาณ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยผู้วางแผนระบบการศึกษาของฟินแลนด์เชื่อว่าการใส่วิชาเหล่านี้ไป และให้นักเรียนได้เรียนกันอย่างเต็มที่ อย่างน้อยนักเรียนก็จะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ไปในตัวอยู่แล้ว และอย่างน้อยก็สามารถหางานทำเป็นอาชีพประเภทแรงงานฝีมือได้ทุกคน

นักเรียนในฟินแลนด์จะไม่ต้องทำข้อสอบเลยแม้แต่น้อย ข้อสอบแรกที่นักเรียนในฟินแลนด์จะได้ทำคือตอน ป.6 ซึ่งเป็นข้อสอบมาตรฐานจากรัฐบาล แต่นั่นก็แล้วแต่อีกว่าครูจะยินยอมให้นักเรียนทำข้อสอบนั้นหรือไม่ ถ้าครูยอม นักเรียนก็มีสิทธิจะเลือกว่าจะทำข้อสอบหรือไม่เช่นกัน 

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องระบบการศึกษา ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับบุคลากรอย่างครู ที่ในฟินแลนด์จะต้องผ่านการคัดกรองมาอย่างดี แต่ก็มีผลตอบแทนเป็นรายได้ และจำนวนวันหยุดที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้อาชีพครูกลายเป็นอาชีพใฝ่ฝันของคนหลายคน (ปีแรก ๆ รายได้อาจจะไม่มาก แต่ครูฟินแลนด์ที่มีอายุงาน 15 ปีมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ารายได้เฉลี่ยอาชีพอื่นที่มีอายุงานเท่ากันถึง 102%) และสถานะทางสังคมของครู อยู่เทียบเท่าแพทย์ และนักกฎหมาย

แต่ก็มีสิ่งที่น่าแปลกใจอยู่สามอย่าง อย่างแรกคือครูในประเทศฟินแลนด์ ไม่มีระบบที่ต้องพยายามแข่งขันกันเอง และถูกจัดลำดับตามความสามารถหรือผลงานของนักเรียนเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ อย่างสิงคโปร์ หรือเยอรมนี 

อย่างที่สอง คือฟินแลนด์พยายามยกเลิกระบบที่ทำให้การศึกษาภายในประเทศมีมาตรฐานกลาง ที่ทำให้ทุกโรงเรียนต้องสอนเนื้อหามาตรฐานที่เหมือนกันทุกโรงเรียน แต่ทางรัฐบาลจะกำหนดเพียงแค่ "ทิศทาง" ในการเรียนการสอนเท่านั้น ส่วนในเรื่องของวิธี และเนื้อหา ครู โรงเรียน และเมืองต้นสังกัดของโรงเรียน สามารถที่จะออกแบบเองได้

อย่างสุดท้าย คือฟินแลนด์ไม่ยอมให้มีการแบ่งเด็กที่เรียนดี และเรียนไม่ดี ออกเป็นห้องคิง ห้องควีน เหมือนกับหลาย ๆ โรงเรียนในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ 

แน่นอน การไม่มีมาตรฐานในการเรียนการสอน ทำให้กลุ่มธุรกิจและนักการเมืองฝั่งขวาหลายคนในฟินแลนด์เองไม่พอใจ และพยายามต่อต้านการปิดตัวลงขององค์กรที่พยายามจะสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนให้กับประเทศ แต่แล้วพวกนี้ก็ "เงิบ" หลังจากที่ผลการสอบ PISA ออกมาว่าฟินแลนด์เป็นประเทศนักเรียนทำคะแนนได้สูงที่สุด (แล้วก็เงียบหายไปหมด)

แล้วทำไมฟินแลนด์ถึงมีระบบการศึกษาแบบนี้ได้?

40 ปีที่แล้วฟินแลนด์ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก และระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ในตอนนั้นแย่กว่าประเทศตะวันตกอื่น ๆ ทั่วไป เพราะว่าฟินแลนด์เพิ่งหลุดออกจากการถูก "อำนาจของสหภาพโซเวียตครอบงำ" โดยช่วงนั้นระบบการศึกษาของฟินแลนด์ได้ถูกปฏิรูปเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในตอนนั้น

ทั้งนี้ หลังจากการปฏิรูปการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ครั้งนั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันได้ผลจริงหรือไม่ จนกระทั่งช่วงกลาง ๆ ยุค 1990s ที่ฟินแลนด์มีบุคลากรคุณภาพในอุตสาหกรรมไอทีมากมาย เช่น NOKIA, Ericsson, หรือ SAP และทุกอย่างก็ได้รับการรับรองอีกครั้งว่าความพยายามตลอด 40 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นความสำเร็จ หลังจากที่ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุด จากการสอบวัดมาตรฐานเด็กทั่วโลก จากการสอบ PISA ในปี 2000

จากการสอบ PISA ในปี 2000 นักเรียนฟินแลนด์เป็น "ผู้อ่าน" ที่เก่งที่สุดในโลก หลังจากนั้นในปี 2003 นักเรียนฟินแลนด์กลายเป็น "นักคณิตศาสตร์" ที่เก่งที่สุดในโลก ต่อมาในปี 2006 นักเรียนฟินแลนด์ทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ได้สูงที่สุดในโลก 

คะแนน PISA ปี 2009 ฟินแลนด์เป้นประเทศตะวันตกที่คะแนนสูงที่สุด
เก่งแล้วยังไม่พอ! ฟินแลนด์เตรียมปฏิรูประบบการศึกษาของตัวเองอีกครั้ง

แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการศึกษาที่มีคุณภาพดีที่สุดอยู่แล้วก็ตาม ตอนนี้ฟินแลนด์ ประเทศที่ถือว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน ได้ออกมาบอกว่าถึงเวลาแล้ว ที่ครูจะเลิกสอนนักเรียนเป็นรายวิชา (Teaching by Subject) และให้สอนนักเรียนตามเนื้อเรื่องแทน (Teaching by Topic) โดยฟินแลนด์ ได้เรียกการเรียนการสอนแบบนี้ว่า Phenomenon-based teaching

นั่นหมายความว่า นักเรียน ม.ปลาย ในประเทศฟินแลนด์ตามแผนการปฏิรูปใหม่นี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนวิชาเคมี ฟิสิกส์ เลข หรือประวัติศาสตร์อีกต่อไป เพราะว่าการเรียนการสอนก่อนขั้น ม. ปลาย เพียงพอต่อการ "สานต่อความรู้" เองแล้ว นักเรียนสมัยนี้สามารถเข้าถึงเนื้อหาประวัติศาสตร์ได้ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองอยู่แล้ว

สิ่งที่นักเรียน ม.ปลาย ในฟินแลนด์จะได้เรียน จะเป็นเรื่องเหตุการณ์ปัจจุบันของโลก หรืออาจจะเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการออกไปใช้ชีวิตการทำงานในโลกแห่งความจริงมากกว่า เช่น การเรียนเรื่องของสหภาพยุโรป ที่ในเนื้อหาจริง ๆ แล้ว ก็จะมีเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา และภูมิศาสตร์อยู่ด้วย หรือช่วงที่พ่อแม่ของนักเรียนต้องจ่ายภาษีประจำปี นักเรียนก็อาจจะได้เรียนเรื่องของภาษี การจ่ายภาษี บัญชี เพื่อให้นักเรียนได้เห็นทุกอย่างที่กำลังเรียนอยู่ แต่เป็นในโลกของความจริง และมีประโยชน์ใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ

แล้วทำไมถึงต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาอีกครั้ง? Marjo Kyllonen ตัวแทนจากเมืองเฮลซิงกิ เมืองหลวงของประเทศฟินแลนด์ ได้ออกมาบอกว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนในเมืองเริ่มแผนการเรียนการสอนใหม่ในรูปแบบนี้แล้ว และที่ต้องเปลี่ยน เพราะว่าการเรียนการสอนแบบที่เคยเป็นมา แบบที่แบ่งสอนรายวิชา แล้วให้ครูมายืนหน้าห้องเรียน มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยต้นศตวรรธที่แล้ว และตอนนี้ความต้องการในเรื่องแรงงานในสังคม กับสิ่งการเข้าถึงข้อมูลมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็มีกระแสต่อต้านออกมาจากฝั่งของครู ซึ่งหลายคน ได้สอนนักเรียนด้วยเนื้อหาตามวิชาเป็นวิชาเดียวมาโดยตลอด และแผนการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ จะทำให้ครูจากหลายสาขา ต้องประชุมและเขียนเนื้อหาใหม่ขึ้นมาตลอด (ตัวแทนจากเมืองฯ เรียกขั้นตอนนี้ว่า co-teaching)

ณ ตอนนี้ ฟินแลนด์ได้พยายามปรับทัศนคติของครูในประเทศใหม่ โดยให้การฝึกสอน อบรม และยังให้โบนัสเป็นผลตอบแทนเพิ่ม หากครูคนนั้นได้เปลี่ยนวิธีการสอนมาเป็นแบบใหม่ จากกระแสตอบรับในตอนนี้ ตัวแทนเมืองเฮลซิงกิบอกว่าครูหลายคนติดใจการสอนแบบนี้ไปแล้ว และนึกไม่ออกว่าจะกลับไปสอนแบบเดิมได้อีกหรือไม่

ที่มา:

จากการศึกษาฟินแลนด์ สู่การศึกษาในเมืองไทย...

ณ จุดนี้การศึกษาไทยทั้งระบบ เหมือนจะเน้นเรื่องค่านิยม 12 ประการอยู่ ... ก็ขอไม่พูดเลยดีกว่าละกัน ความดันเลือดพุ่งเปล่า ๆ ไม่มีประโยชน์ ...อิ__อิ

No comments:

Post a Comment