- สมัยแรก ๆ ที่สหภาพยุโรปได้มีการก่อตั้ง "ยูโรโซน" หรือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุล "ยูโร" กรีซเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ได้เปลี่ยนมาใช้เงินสกุลยูโรพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ ในสหภาพยุโรป (วันขึ้นปีใหม่ปี 2002) แต่หลายคนตอนนั้นก็สงสัยแล้วว่าทำไมกรีซถึงได้เข้าร่วมยูโรโซน เพราะสถานภาพเศรษฐกิจของกรีซไม่ได้แข็งแรงเหมือนเยอรมนี และฝรั่งเศส ตอนนี้หลายคนพอจะสรุปได้แล้วว่ากรีซตอนนั้นคงโกหกเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของตัวเอง
- นักการเมืองของประเทศกรีซหลายคนเป็นอดีตสมาชิกสหภาพแรงงานต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนก็กลัวที่จะโดนลากออกจากเก้าอี้ของตัวเองถ้าไม่เอาใจสหภาพแรงงานที่คอยสนับสนุนตัวเองมาตลอด (patronage system) สุดท้ายภายใต้แรงกดดันนี้ รัฐบาลกรีซจึงต้องจ้างข้าราชการมากมาย อารมณ์ไม่ต่างจากเมืองไทย ที่ข้าราชการทำงานช้า ด้อยประสิทธิภาพ แต่กลับไล่ออกไม่ได้ แถมยังมีการขยายฝ่ายงานและตำแหน่งหน้าที่ให้กับลูกหลานของข้าราชการ (nepotism) ทำให้รัฐบาลมีขนาดใหญ่เกิน และจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก แถมยังได้ค่าจ้างที่สูงมาก
- ประชาชนกรีก ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไป ต่างก็พยายามไม่จ่ายภาษีกันทุกระดับประทับใจจนเป็นนิสัย การเลี่ยงภาษีถือว่าเป็นเรื่องปรกติในสังคมกรีก ทำให้รัฐขาดรายได้ ระบบภาษีของกรีซเองก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนการเลี่ยงจ่ายภาษีเองก็ขาดเครื่องมือ ความรู้ และทัศนคติที่ดีพอในการทำหน้าที่ของตัวเอง (เพื่อนผมบอกว่าสหภาพสรรพากรของกรีซเคยออกมาหยุดงานประท้วง หลังจากมีการเพิ่ม KPI และบังคับให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจสอบการเลี่ยงภาษี)
- รัฐบาลกรีซกู้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะสนับสนุนระบบที่ยังล้มเหลว
(อารมณ์เดียวกับการบินไทย)เมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง สินทรัพย์หลายชนิดมีการปรับราคาลง (devalue) เมื่อนั้นเจ้าหนี้ก็เริ่มทำการตรวจสอบคุณภาพของผู้กู้ เมื่อนั้นเองที่เจ้าหนี้รู้ตัวว่ากรีซใช้เงินไม่เป็น - ตั้งแต่มีเขตเศรษฐกิจยูโรโซน ไม่เคยมีประเทศไหนที่จะต้องออกจากยูโรโซนมาก่อน การที่ประเทศกรีซเริ่มมีปัญหาทางเศรษฐกิจเข้าขั้นโคม่าและอาจจะต้องออกจากเขตยูโรโซน ประเทศยุโรปอื่น ๆ เริ่มกลัวผลลัพธ์ที่อาจจะตามมา สุดท้ายกลุ่มประเทศยุโรปที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าจึงยอมที่จะอุ้มประเทศกรีซไว้ ด้วยการช่วยจ่ายเงินสนับสนุนรัฐบาลกรีซในด้านต่าง ๆ แต่กรีซกลับต้องเอาเงินเหล่านี้ไปจ่ายเงินเดือนข้าราชการที่มีจำนวนมากและด้อยประสิทธิภาพต่อไปอีก
- เยอรมนีเป็นประเทศที่เสนอที่จะกู้ชีพเศรษฐกิจของกรีซ เนื่องจากเยอรมนีมีเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป แต่แน่นอน เวลาเราจะช่วยออกเงินให้ใคร เราต้องแน่ใจก่อนว่าคนที่เราจะช่วยจะเอาเงินไปใช้อย่างฉลาด เยอรมนีจึงเข้าเจรจากับรัฐบาลกรีซ ว่ากรีซจะต้องใช้เงินที่ให้อย่างระวัง ต้องคุมรายจ่าย และต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเองด้วย รัฐบาลกรีซตอนนั้นซึ่งต้องการเงินจริง ๆ ได้ให้คำสัญญาว่ากรีซจะ "รัดเข็มขัด" ตัวเองระหว่างการปฏิรูปประเทศ
- นโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรีซ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เสียผลประโยชน์อย่างพวกข้าราชการ ที่ไม่เคยทำงานหนัก แต่อยากได้เงินสนับสนุนตัวเองมาโดยตลอด ออกมาประท้วง (ตามคาด) และสุดท้ายก็ได้มีการให้ร้ายป้ายสีเยอรมันว่าเห็นแก่ตัว และต้องการเอาประชาชนกรีกมาเป็นทาส อย่างไรก็ตามตลอดเวลาห้าปีที่ผ่านมา ที่กรีซมีนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้กรีซเริ่มที่จะจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ได้ และเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง
- Syriza (ΣΥΡΙΖΑ) กลุ่มซ้ายจัดของประเทศกรีซ ที่มีนาย Alexis Tsipras เป็นผู้นำได้ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยกลุ่มนี้มีนโยบายหลักคือ "เจ้าหนี้อย่าเสือก" และ "เลิกนโยบายรัดเข็มขัด" ด้วยการกลับมาจ้างข้าราชการเพิ่ม และยกเลิกแผนการออกนอกระบบของธุรกิจรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลกรีซจะมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อเจ้าหนี้อย่างเยอรมนี โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้ทำก็จะออกจากยูโรโซน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือท่าทีดังกล่าวเริ่มอ่อนลงอย่างชัดเจน (หรือว่ามีแค่ราคาคุยตอนหาเสียงเท่านั้น)
หลาย ๆ ข้อ อ่านแล้วอาจจะรู้สึกคุ้นหูไหมครับ?
ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซเพียงอย่างเดียว หลายอย่างมันเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น ๆ รวมถึงเมืองไทยเองด้วย แต่ในมุมมองกลับกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรีซในตอนนี้มันก็ไม่ใช่เรื่อง Thailand Only แต่อย่างใด เจ้าหนี้ย่อมต้องการให้ลูกหนี้จ่ายเงินคืนได้ แต่ผู้นำของประเทศลูกหนี้เองก็ต้องมาเจอความกดดันจากภายในประเทศ ซึ่งแน่นอนต้องมีคนเสียผลประโยชน์จากมาตรการดัดสันดานลูกหนี้ โดยมันยากขึ้นมาอีกเมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจมีเรื่องของตำแหน่งเป็นเดิมพัน
หวังว่าผู้อ่านคงจะเข้าใจปัญหาของประเทศกรีซมากขึ้นนะครับ
No comments:
Post a Comment