Saturday, 22 November 2014

อยากให้ระบบการศึกษาไทย อบรมนักเรียนเรื่องการจ้างคนอื่นทำงานแทน หรือก็อปงานคนอื่น มากกว่าให้ท่องจำค่านิยม 12 ประการ

เมื่อเดือนที่แล้วผมได้อ่านกระทู้หนึ่งบน Pantip ที่มีการเขียน "เตือนใจ" นักเรียนที่ไปเรียนเมืองนอก ให้ล้มเลิกความคิดที่จะไปใช้บริการรับจ้างทำการบ้านหรือเขียน Dissertation (หรือวิทยานิพนธ์) แล้วเลยเกิดประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาประเด็นหนึ่งครับ (ป.ล. ต่อไปในบทความนี้ผมขอเรียกบริการเหล่านี้ว่า ghostwriters เพื่อความสะดวกครับ)

แต่ขอเกริ่นก่อน คือนักเรียนที่เป็นเจ้าของกระทู้คนนี้เขาต้องการเขียนเตือนใจนักเรียนที่ออกไปเรียนต่างประเทศ แล้วไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ กลับตัดสินใจใช้เงินของตัวเองหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ไปใช้บริการ "รับจ้างเขียนการบ้าน" หรือบางคนไปไกลถึงขั้นใช้บริการ "รับจ้างเขียนวิทยานิพนธ์" ซึ่งผลสุดท้ายสิ่งที่ตามมาอย่างเร็วสำหรับเจ้าของคนนี้คือการโดนคนที่เขาจ้างเรียกค่าไถ่ พร้อมกับแบล็กเมลว่าถ้าไม่ยอมจ่ายค่าไถ่ จะเอาหลักฐานไปแจ้งกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วถ้าถูกมัดตัวได้ ก็นอกจากจะไม่ได้ปริญญาแล้ว อาจจะโดนแบนถาวรจากมหาลัยอื่นตลอดชีพเลยทีเดียว

ตัวอย่างโฆษณาบริการประเภท Ghostwriting
เรื่องนี้ผมอาจจะไม่พูดอะไรมากเกี่ยวกับความเสี่ยงของการใช้บริการเหล่านี้ และผลกรรมที่ตามมา เพราะเหมือนเจ้าของกระทู้ดังกล่าวเขาได้เขียนออกมาค่อนข้างละเอียด ใช้ได้ และอ่านง่ายดีอยู่แล้ว และผมก็ขอไม่พูดถึงผลกรรมที่ตกอยู่ที่นักเรียนไทยที่อยากจะไปเรียนเมืองนอกรุ่นต่อ ๆ ไป ที่ต่อจากนี้ไปตกเป็นที่เพ่งเล็งของสถาบันเหล่านี้ไปโดยปริยาย เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดซ้ำซากกับกลุ่มนักเรียนไทย จนกระทั่งเป็นข่าว หลายครั้ง หลายครา


ขอเข้าประเด็นที่ผมสงสัยเลยละกันครับ จากการสังเกตรอบตัวล้วน ๆ ผมมีความรู้สึกว่าการที่นักเรียนไทยในเมืองนอกหลายคนชอบจ้างพวก ghostwriters มาทำการบ้าน เขียน essay และปั่นวิทยานิพนธ์ให้นี้อาจจะเกิดจากการไม่ได้รับการอบรมในเรื่องของ plagiarism หรือการคัดลอกหรือขโมยผลงานของคนอื่น ดีพอ โดยในที่นี้ผมไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษผู้ปกครองหรือครูนะครับ แต่ผมอยากโยนความรับผิดชอบในเรื่องนี้ให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย และรวมไปถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทยมากกว่า

ทำไมผมถึงพุ่งเป้าไปที่ระบบการศึกษาของประเทศไทยเสียมากกว่าตัวบุคคล? เพราะว่าจากการสังเกตรอบตัวล้วน ๆ (ขอย้ำอีกที) จากการพูดคุยกับนักเรียนไทยหลาย ๆ คนที่ศึกษาในต่างประเทศ มุมมองเรื่องการใช้ ghostwriters กับ plagiarism ของนักเรียนไทยที่จบจากโรงเรียนอินเตอร์ในไทย กับนักเรียนไทยที่จบจากระบบหลักสูตรไทยมันต่างกันมากอย่างน่าเหลือเชื่อครับ และทำไมถึงเป็นแบบนี้? เพราะว่าหลักสูตรไทยเราไม่เคยเน้นเรื่องความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และโทษของการทำขโมยงานของคนอื่นมาใช้ตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ

หลักสูตรอินเตอร์ที่ผมคุ้นเคย ตั้งแต่ระบบ IGCSE มาจนถึง IB จะมีการบอกย้ำนักเรียนทุกครั้งเสมอเวลาที่นักเรียนจะต้องเขียนงานส่งครูตั้งแต่ ม.3 ว่าการก็อปปี้งานมาส่งมีความผิดรุนแรงขนาดไหน และเขาก็บอกด้วยว่าสมัยนี้มันมีเทคโนโลยีในการตรวจจับการนำข้อมูลคนอื่นมาใช้ที่แม่นยำขนาดไหน โดยโรงเรียนมัธยมที่ผมเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ บังเอิญโชคดีที่ครูมีซอฟต์แวร์ Turnitin ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ตรวจจับ plagiarism ที่มหาวิทยาลัยหลายที่เอามาให้นักเรียนได้ลองตรวจงานตัวเองดูก่อนส่ง

หน้าจอของ Turnitin ก็อปใครจากไหนบอกได้หมด
สิ่งที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องที่เราต้อง "รับสภาพ" คือผมยังไม่รู้ว่าสถาบันระดับมัธยมในไทยมีการอบรมในเรื่องของความสำคัญในการผลิตผลงานที่เป็นของตัวเองชิ้นใหญ่ ๆ ซัก 2,000 คำถึง 4,000 คำทุกคน ให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนมาตรฐานในระดับมัธยมควบคู่ไปกับการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อตรวจสอบ plagiarism ซึ่งในส่วนนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามีหรือยัง และอีกอย่างที่อยากรู้ คือมันสามารถใช้ตรวจสอบการขโมยผลงานของคนอื่นที่เป็นภาษาไทยได้ด้วยหรือไม่ ถือเป็นการอบรมนักเรียนเรื่องนี้แต่เนิ่น ๆ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย (ผมทราบครับว่าระดับมหาวิทยาลัยในไทยมีอยู่แล้ว)

เพราะสำหรับผมเอาจริง ๆ แล้ว นักเรียนที่อยากจะโกง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนอินเตอร์หรือนักเรียนไทย ก็ย่อมหาทางโกงอยู่ดี แต่ผมว่าปัญหานี้บางครั้งมันอาจจะลดลง ถ้าหากนักเรียนเหล่านี้รู้ว่าทุกวันนี้รู้ถึงคุณค่าของการผลิตผลงานที่เป็นของตัวเอง และใช้การอ้างอิงที่ถูกต้อง (ผมจำได้โรงเรียนไทยสอนแต่วิธีการเขียนอ้างอิง แต่ไม่บอกถึงความสำคัญ และบทลงโทษ ความผิดตามกฎหมาย) มันมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับนักเรียนที่กระทำผิดได้ โดยให้เรียนรู้แต่แรก ๆ เลยว่าการทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง เพราะมันถือว่าเป็นการโจรกรรม แต่ถ้ายังจะทำอีก ก็ยังสามารถโดนจับได้

แล้วผมนำประเด็น plagiarism มาโยงเข้ากับ ghostwriting ทำไม? เพราะผมเชื่อว่าคนที่รู้จัก plagiarism กับระบบตรวจจับการขโมยผลงานคนอื่นดีพอ น่าจะสามารถช่างน้ำหนักแล้วตัดสินใจได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้เรื่องนี้ดีพอถึงความเสี่ยงของการให้งานของตัวเองอยู่กับมือของบุคคลอื่นที่เราไม่อาจรู้จัก

คำถามที่สำคัญ คือคุณจะมีทางรู้หรือไม่ว่าคนที่เราได้จ้างทำการบ้านหรือจ้างทำวิทยานิพนธ์เขาจะไม่เอาผลงานเดียวกันที่เขาทำให้เรานี้ ไปขายให้กับนักเรียนคนอื่นที่กำลังทำโปรเจคหรืองานใกล้เคียงกับเราอยู่ ถ้าหากเขาทำจริง เราจะไม่มีทางตรวจสอบได้เลยต่อให้เรามี Turnitin ติดอยู่กับมือ เพราะว่างานเหล่านี้จะยังไม่อยู่ในฐานข้อมูล จนกว่าจะถูกนำส่งเข้าระบบของมหาวิทยาลัย (แล้วเมื่องานสองชิ้นนั้นถูกส่งเข้าไป ถ้าระบบมันเจอคุณจะทำอย่างไร?)

นี่เรายังไม่พูดถึงเรื่องของคุณภาพของงานที่ออกมา ว่ามันจะดีแค่ไหน เพราะเขาไม่ได้มานั่งในห้องเรียนเดียวกันกับเรา เขาไม่มีทางรู้ว่าเรากำลังเรียนเรื่องอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปริญญาโท นี่ยังไม่นับถึงความเสี่ยงในเรื่องของการโดนหลอก (เหมือนกรณีเจ้าของกระทู้นั้นใน Pantip โดนไป) หรือกรณีเบี้ยว แล้วเขากลับทำไม่เสร็จ แล้วเรากลับไม่มีงานส่งเมื่อถึงเวลาส่งงาน

สรุป

ผมว่าระบบการศึกษาของไทยเราไปเน้นสอนและอบรมผิดทางหรือเปล่า (อย่างการท่องจำค่านิยมกี่ประการอะไรนั่น) จนมองข้ามเรื่องที่สำคัญอย่างการขโมยผลงานคนอื่นไปใช้กัน เราเก่งกับการท่องจำศีลธรรมอันดีงาม จนลืมการ work ethics หรือจริยธรรมในการทำงานสากลไปแล้ว?

ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้อาจจะสามารถขยายความไปถึงเรื่องทัศนคติของคนไทย และคนเอเชียต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลทำให้การเรียงลำดับความสำคัญในการเรียนการสอนของระบบการศึกษาของประเทศภูมิภาคเรา ละเลยหรือบั่นทอนความสำคัญของการผลิตผลงานที่เป็นของตัวเอง หรือ production of original work ลงในระดับชั้นมัธยมศึกษา

ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ จากการสังเกตกับ "กลุ่มตัวอย่าง" รอบตัว ผมเห็นว่าการอบรมเรื่องการขโมยผลงานของคนอื่นในระดับชั้นมัธยม มันน่าจะลดเคสการจ้างเขียนวิทยานิพนธ์ของคนไทยลงได้บ้าง เพราะว่าช่วงชั้นมัธยม เป็นช่วงที่นักเรียนจะเริ่มมีงานประเภทค้นคว้า ฝึกทั้งการผลิตผลงานที่เป็นของตัวเองจนเป็นนิสัยได้ และถ้าหากนักเรียนรู้ถึง "ผลกรรมที่ตามมา" จากการไปจ้างคนอื่นทำงานได้เร็วแค่ไหน ก็ยิ่งดีครับ

3 comments:

  1. มหาวิทยาลัยใช้ Turnitin กันหมดอยู่แล้วครับ

    ReplyDelete
  2. ประเด็นอยู่ที่มัธยมครับ

    ReplyDelete
  3. ผมว่ามันเป็นวงจรที่สะท้อนไปมาระหว่างสังคมไทยโดยรวม ซึ่งไม่ค่อยตระหนักว่าการคัดลอกมันผิด เลยถ่ายทอดกลับมาสู่ระบบการศึกษาที่ไม่เน้นเรื่องนี้เท่าที่ควร และเราก็ผลิตปัญญาชนที่ละเลยเรื่องนี้ออกมาสู่สังคมอีกรอบ ราวไก่กับไข่

    ReplyDelete