Monday, 3 November 2014

5 สิ่งที่รถไฟฟ้า BTS ควรรีบปรับปรุง

ในฐานะที่ผมเป็นผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS เป็นประจำ และค่อนข้างที่จะรำคาญกับหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องเจอจากการใช้งาน BTS ในแต่ละครั้ง

ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมอยากให้ BTS มีการเปลี่ยนแปลงเสียที เพื่อที่จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า หลายเรื่องข้างล่างเป็นเพียงแค่เรื่องของการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและความเบียดเสียดกันของผู้โดยสารในสถานีครับ

1 - ตู้จำหน่ายตั๋วล้าสมัย ใช้งานยาก ไม่รับธนบัตร ควรเปลี่ยนได้แล้ว

ผมว่านี่เป็นหนึ่งในปัญหาที่เรื้อรังมาก ๆ ของระบบรถไฟฟ้า BTS ครับ คือระบบการซื้อตั๋วมันล้าสมัย และไม่ได้ตอบโจทย์ของปัญหาที่ผู้โดยสารเจอทุกวันนี้เลยครับ จะสังเกตได้เลยว่าช่วงเวลาพีค ๆ ตามสถานีที่คนใช้บริการเยอะอย่างสยาม จัตุจักร หรืออโศก ผู้โดยสารที่ไม่ได้ซื้อบัตร Rabbit จะต่อคิวเต็มทางเข้าสถานี ถึงขั้นที่ว่าคนมีบัตรยังหาทางเดินเข้าสถานีแทบไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากระบบจำหน่ายตั๋วที่ล้าสมัยนี่ล่ะครับ
หน้าตาตู้จำหน่ายตั๋วปัจจุบัน ไม่รับแบงค์
แถมยังใช้งานยาก ชอบคายเหรียญ

ล้าสมัยอย่างไรเหรอ? ตู้จำหน่ายตั๋วของ BTS ทุกวันนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นตู้ตามภาพข้างล่างนี้เลยครับ คือมันรับแต่เหรียญ 1, 5 และ 10 บาทเท่านั้น ใครมีเหรียญ 2 บาทหรือธนบัตรให้ลืมไปได้เลย เพราะตู้นี้ไม่รับ (ทั้ง ๆ ที่เหรียญ 2 บาทมีการใช้งานค่อนข้างแพร่หลายในกรุงเทพ)

ที่ตลกกว่านั้น คือค่าโดยสาร BTS ไม่ใช่ราคาถูก ๆ แล้วนะครับ ตอนนี้ราคาถูกสุดก็ 15 บาทต่อเที่ยว แพงสุดก็ 52 บาท คิดดูว่าจะเสียเวลาแค่ไหนหากผู้โดยสารซัก 5-10% จากทั้งหมดต้องมาหยอดเหรียญ 6-7 กว่าเหรียญเพื่อจ่ายค่าตั๋วนี้ (เลยอยากถามว่าทุกวันนี้มีคนเดินไปเดินมา พกเหรียญมูลค่ารวมกันเกิน 30 บาทเยอะขนาดนั้น?)

นี่ยังไม่นับบางกรณีที่เครื่องคายเหรียญออกมา ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม

ปัญหานี้มันแย่เข้าไปอีก เมื่อผู้โดยสารที่ไม่มีเศษเหรียญมากพอต้องไปแลกธนบัตรเป็นเหรียญก่อนที่อีกตู้ สถานีไหนมีตู้แลกเหรียญแยกออกมาต่างหากก็ถือว่าโชคดีไป แต่สำหรับสถานีไหนที่ไม่มี คือซวยผู้โดยสารคนอื่นที่จะเติมเงินบัตร Rabbit สิครับ เพราะต้องมารอคิวคนที่แลกเหรียญด้วย



ตู้ขายตั๋วแบบนี้ ขอติดตั้งเพิ่มได้ไหม?
สำหรับนักท่องเที่ยว หรือคนที่ไม่เคยใช้ตู้ขายตั๋วของ BTS มาก่อน ผมขอบอกเลยว่ามันไม่ได้ใช้ง่าย (เอาจริง ๆ คนที่ใช้บัตร Rabbit อย่างผมถ้าลืมเอาบัตรมา ยังมีงงเลย) คือต้องมานั่งดูสถานีก่อนว่าสถานีปลายทางมันต้องจ่ายราคาเท่าไหร่ แล้วกดเลือกราคาบนตู้ บางสถานีไอ้ป้ายราคานี้กลายเป็นป้ายโฆษณาแทน ไม่ได้อยู่ข้าง ๆ ตู้จำหน่ายตั๋ว คนจะซื้อตั๋วก็ต้องเดินวนหา ว่าไอ้ป้ายราคานี้มันหายไปไหน

ขอเรียกร้องกับผู้บริหาร BTS หน่อยครับ ว่าขอให้ช่วยลองไปดูช่วงเวลาเร่งด่วนตามสถานีต่าง ๆ ด้วย ว่ามันมีปัญหาคอขวดจริง ๆ ก็อยู่ตรงที่ passenger flow บริเวณตู้ขายตั๋วนั่นล่ะครับ และหากเป็นไปได้ ช่วยติดตั้งตู้ขายตั๋วที่รับธนบัตร และมีสถานีปลายทางให้เลือกบนจอภาพ เหมือนที่มีการติดตั้งเป็นบางจุดบางสถานี ให้มีมากเครื่องกว่านี้ด้วยครับ

สถานีพร้อมพงษ์ตอน 6 โมง คือเดินเข้าประตูยากมาก
เพราะเจอแถวตู้ขายตั๋วบังจนมิด


2 - ประตูอัตโนมัติสำหรับผู้โดยสารที่มีสัมภาระ จักรยาน รถเข็นเด็ก และคนพิการ

หลังจากที่เรามีรถไฟฟ้า Airport Rail Link เชื่อมต่อไปสนามบินสุวรรณภูมิได้แล้ว เราก็เริ่มเห็นผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือนักท่องเที่ยว เริ่มลากกระเป๋าขึ้นรถไฟฟ้า ถ้าไม่ใช่กระเป๋า ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นผู้โดยสารที่พกจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า บางคนก็เริ่มเอารถเข็นเด็กเข้ามาด้วย (นี่ยังไม่นับผู้โดยสารที่ต้องนั่งรถเข็นนะ)

แต่ปัญหาคือทุกวันนี้สถานี BTS ทุกสถานียังไม่มีประตูอัตโนมัติที่รองรับการใช้งานโดยผู้โดยสารกลุ่มนี้ ตอนนี้ทางเลือกของผู้โดยสารที่มีกระเป๋าหนัก จักรยาน หรือรถเข็นต้องทำคือการบอกให้พนักงานหรือยามของสถานีเปิดประตูกั้นออก แล้วให้เขาเอาบัตรเราเดินผ่านประตูอัตโนมัติมาอีกที หรืออีกวิธีคือพยายามสัมภาระทั้งหลายตอนเดินเข้าประตูอัตโนมัติ ให้สูงกว่าระดับของเซ็นเซอร์ตรงประตู

คนนี้โชคดีเกิดมาสูง กระเป๋าสะพายสูงกว่าเซ็นเซอร์เลยไม่โดนหนีบซะก่อน
ปัญหาประตูหนีบก้น ฯลฯ มันก็เกิดจากการที่ประตูอัตโนมัติของ BTS เป็นระบบเก่า เซ็นเซอร์ตรวจจับน้อยมาก และไม่สามารถแยกระหว่างตัวผู้โดยสารกับกระเป๋าที่ผู้โดยสารคนนั้นถือมาได้

ประตูอัตโนมัติยี่ห้อ Thales ของ Airport Link
อยากเรียกร้องครับ ให้ BTS อย่างน้อยติดตั้งประตูสำหรับคนพิการ หรือคนที่มีสัมภาระเพิ่มในสถานีที่มีคนใช้เยอะ เช่น พญาไท อโศก จัตุจักร และสยาม แต่ถ้าจะให้ดี อยากให้มีการติดตั้งประตูลักษณะนี้ทุกสถานีเลยครับ เพราะเอาจริง ๆ สถานีที่มีผู้โดยสารน้อย ๆ ลูกค้าต้องช่วยตัวเองด้วยการยกกระเป๋าข้ามไปก่อน แล้วค่อยเดินข้าม เพราะไม่มีพนักงานหรือยามยืนอยู่บริเวณหน้าประตู

ผู้บริหาร BTS ควรลองไปดูประตูอัตโนมัติยี่ห้อ Thales รุ่นใหม่ที่ Airport Rail Link ใช้ดูนะครับ ประตูรุ่นนี้เซ็นเซอร์มีหลายจุด ไม่หนีบก้นคนง่าย ๆ แถมมีเวอร์ชันกว้างพิเศษสำหรับรถเข็นอีกด้วย


3 - ติดตั้งบันไดเลื่อนในจุดที่ผู้โดยสารใช้เยอะ

อันนี้เป็นประเด็นต่อจากข้อ 2 ก็ว่าได้ครับ คือหากให้เปรียบเทียบ BTS กับระบบรถไฟฟ้า MRT แล้วจะเห็นเลยว่า BTS มีจำนวนผู้โดยสารมาก แต่จำนวนบันไดเลื่อนกลับมีน้อย

คือทุกวันนี้ผมเข้าใจนะครับว่า BTS ได้ถูกออกแบบมาแต่แรกให้แต่ละสถานีมีบันไดเลื่อนแค่ฝั่งละด้านเท่านั้น แต่หากมาดูจำนวนผู้โดยสารที่ใช้งานทุกวันนี้แล้ว ผมว่ามันน่าจะถึงจุดคุ้มในการลงทุนติดตั้งบันไดเลื่อนเพิ่มเติมแล้วนะครับ

หลาย ๆ สถานี ผมก็เห็น BTS ได้ติดตั้งบันไดเลื่อนเพิ่มจากเดิมที่ไม่มีแล้ว (วิธีสังเกตง่าย ๆ คือจุดไหนที่มีการติดบันไดเลื่อนเพิ่มเติม ข้าง ๆ บันไดเลื่อนนั้นจะมีบันไดเล็ก ๆ ให้เดินขึ้นไปได้ด้วย) แต่บางจุดยังเป็นที่ต้องการอยู่ครับ เช่น สถานีพญาไท ที่จริง ๆ แล้วควรมีการติดตั้งบันไดเลื่อนขาลงด้วยซ้ำสำหรับผู้โดยสารที่ลากกระเป๋าใหญ่ ๆ เพื่อที่จะไปขึ้นเครื่องบิน เพราะว่าตัวสถานีพญาไทถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งไม่สามารถเข้าถึงหากันได้แล้วในลักษณะเดียวกับสถานีสยาม

สถานีสนามกีฬาแห่งชาติกับจัตุจักร ก็ควรมีบันไดเลื่อนขาลงด้วยเช่นกันครับ ถ้ากลัวเปลืองไฟ ก็สามารถติดบันไดเลื่อนแบบมีเซ็นเซอร์ได้ แล้วสั่งให้มันช้าลง หรือดับไปเลยก็ได้ช่วงที่ไม่มีคนใช้งาน

แต่ก็ขอสนับสนุนให้คนเดินขึ้นบันไดเพื่อสุขภาพ ถ้าของไม่หนัก อิอิ

4 - การคิดเงินผ่านบัตร Rabbit เอาเปรียบผู้โดยสารในบางกรณี

ทุกวันนี้ BTS มีการเก็บเงินสองแบบ คือแบบตั๋วที่ใช้รายครั้ง (single journey) กับตั๋ว Rabbit ที่ผู้โดยสารสามารถเติมเงินเข้าไป (top-up) หรือซื้อเป็นแบบเหมาจ่ายจำนวนเดินทางรายเดือน บัตร Rabbit ปัจจุบัน ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อจำนวนเดินทางแบบเหมาจ่ายรายเดือนได้ และเก็บจำนวนเงินสดแบบเติมเงินได้พร้อม ๆ กัน

ทีนี้สิ่งที่ผมคิดว่าทุกวันนี้การคิดเงินผ่านบัตร Rabbit ถือว่าเอาเปรียบผู้โดยสาร ก็เมื่อผู้โดยสารแบบเหมาจ่ายรายเดือนต้องการเดินทางสถานีเดียว ซึ่งตรงจุดนี้ BTS จะคิดเงินลูกค้าแบบซื้อตั๋วรายครั้งที่ 15 บาท ส่วนลูกค้าบัตร Rabbit แบบเหมาจ่ายจำนวนเที่ยว จะต้องเสียเป็นราคาเฉลี่ยต่ำสุดที่ 22 บาท

จึงอยากจะทราบว่าทำไม BTS ถึงไม่เลือกที่จะตัดเอาส่วนที่เป็นเงินสดในบัตรแทน แทนที่จะเลือกตัดจำนวนเที่ยว

ผมพอเข้าใจว่าเพื่อความสะดวก หลาย ๆ คนอาจจะไม่สนในจุดนี้ เพราะว่าหนึ่งเที่ยวก็คือหนึ่งเที่ยว ไม่ว่าจะเดินทางไปไกลแค่ไหนก็ตาม และถ้าไม่สะดวกจะจ่ายเงินจุดนี้จริง ๆ ก็สามารถเดินไปซื้อตั๋วเที่ยวเดียวได้อยู่ดี แต่เอาจริง ๆ สำหรับผมแล้วผมอยากให้ BTS มีตัวเลือกให้ลูกค้าเลือกว่ากรณีนี้อยากจะให้หักเที่ยว หรือหักเงินสดดี เพราะว่าเทคโนโลยีมันทำได้อยู่แล้ว และถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทุกคน ด้วยการลดจำนวนคิวที่ตู้หยอดเหรียญซื้อตั๋วครับ

อีกกรณี คือกรณีที่ผู้โดยสารบัตร Rabbit แบบเติมเงินใช้บัตรเติมเงินเดินทางหลายครั้งมากในหนึ่งวัน จนจำนวนเงินที่ใช้ไปในวันนั้นมีมูลค่าเกิน 130 บาท ซึ่งตรงกับราคาตั๋วรายวัน (One day pass) ที่ BTS ขายให้กับนักท่องเที่ยว ในจุดนี้ ผมถือว่า BTS ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ แม้ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนก็ตาม ควรที่จะปรับลดราคาให้ผู้ที่ใช้บัตร Rabbit แบบเติมเงินที่เดินทางกับ BTS เกินวันละ 130 บาท ให้จ่ายเงินแค่ 130 บาทต่อวันโดยอัตโนมัติ

ทำไม? ผมก็ไม่รู้ครับ แต่ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ผู้ให้บริการควรให้ทางเลือกตั๋วที่เหมาะสมที่สุดกับผู้โดยสารแต่ละคน และไม่ให้ผู้โดยสารแต่ละคนเสี่ยงกันเอาเองกับการเลือกซื้อตั๋วครับ เรื่องการปรับลดราคาตั๋วให้กับผู้โดยสารที่เดินทางมากจนน่าจะเกินราคาแบบตั๋วที่เป็น Time-based เช่น ตั๋ว BTS รายวัน เป็นสิ่งที่ระบบขนส่งทั่วโลกทำกันมากมาย เช่นระบบขนส่งในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย (MyKi) หรือแม้กระทั่งในลอนดอน (Oyster Card)


5 - บัตร Rabbit ควรเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้

บัตร Rabbit ถึงแม้ว่า BTS และธนาคารกรุงเทพพยายามที่จะผลักดันการใช้งานของมันให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นก็ตาม แต่การใช้งานบัตร Rabbit ยังคงลำบาก เพราะสำหรับผู้ใช้มันเป็นบัตรที่ Offline มาก ว่าง่าย ๆ คือในยุคที่ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้หมดแล้ว การเช็คจำนวนเงิน จำนวนเที่ยวเดินทางที่เหลืออยู่บนบัตร และการเติมเงินของบัตร Rabbit ยังทำได้ "ลำบาก" พอสมควร

สิ่งที่ผมต้องการเรียกร้องในที่นี้ ก็คือความสามารถในการตรวจเช็คยอดเงินคงเหลือออนไลน์ ความสามารถในการดูย้อนหลังว่าเงินที่โดนหักโดยอะไรไปบ้าง และความสามารถในการเลือกที่จะเติมเงินออนไลน์ หรือซื้อจำนวนเที่ยวออนไลน์ได้ จริง ๆ แล้ว หากมีการเพิ่มระบบซื้อจำนวนเที่ยวอัตโนมัติโดยให้หักเงินผ่านบัตรเครดิต หรือบัญชีธนาคารได้ จะยิ่งสร้างรายได้ให้ BTS/Rabbit มากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ (ใครไม่ชอบ ก็ไม่ต้องสมัครแบบหักเงินผ่านบัตรเครดิตอัตโนมัติ)


ระบบ Journey History ของบัตร Oyster Card ลอนดอน
ผมมั่นใจ ว่าข้อนี้เอาจริง ๆ แล้ว BTS สามารถเริ่มทำได้อย่างง่าย เพราะทุกวันนี้มีเว็บ Carrot Rewards ที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบยอดคะแนนที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้อย่างละเอียด แต่มันตลกตรงที่ว่ามีระบบให้ตรวจสอบการสะสมยอด แต่กลับไม่มีระบบตรวจสอบจำนวนเงินสดที่มีอยู่ในบัตร หรือกลับไปดูว่าเราใช้บัตร Rabbit เดินทางไปไหนบ้าง

ทุก ๆ เดือน หาก BTS/Rabbit สามารถส่งอีเมลมาเป็น Statement เลยว่าเดินทางไปไหนมาบ้าง ราคาเท่าไหร่ นอกจากจะสะดวกในการย้อนกลับไปดูว่าเดินทางไปไหนมาบ้างแล้ว ยังจะทำให้การเบิกเงินคืนจากบริษัทกรณีเป็นพนักงานบริษัทสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เช่นเดียวกับที่ Uber ทำให้พนักงานเบิกเงินค่าแท็กซี่ได้สะดวกยิ่งขึ้น


สรุป

ก็ไม่มีอะไรมากครับ ห้าข้อนี้คือสิ่งที่ผมส่วนตัวเห็นว่า BTS ควรทำการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพราะมันจะสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจของผู้โดยสารได้อย่างรวดเร็วมากอย่างแน่นอน แต่คำถามหลักมันอยู่ที่ว่า BTS สนใจความพึงพอใจของผู้โดยสารหรือเปล่ามากกว่า

จริง ๆ แล้วมีอีกหลายเรื่องที่อยากใส่เข้าไป เช่น เรื่องที่ควรให้คนสามารถเข้าและออกสถานีเดิมได้โดยคิดเงินถูกกว่าทุกวันนี้ (เช่นเข้าออกสถานีเดิมไม่เกิน 2 นาทีเพื่อใช้ ATM หรือเดินไปอีกด้านของสถานี คิดเงินแค่ 5 บาท) แต่ที่ไม่ใส่เข้าไปเข้าเพราะคิดว่า BTS คงไม่ทำ :p

หลาย ๆ คนเคยบอกผมไว้แล้ว ว่าอย่าได้เรียกร้องอะไรกับ BTS เพราะเป็นบริษัทเอกชนแสวงหากำไร ที่ยังผูกขาดธุรกิจ แต่มาให้บริการสาธารณะ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ ผมก็คงต้องได้แต่หวังให้รัฐบาลใดซักชุดบีบซื้อคืน BTS ให้สำเร็จให้ได้ครับ



7 comments:

  1. Preeda Prakrankamanant3 November 2014 at 16:00

    เห็นด้วยกะข้อแรกสุดติ่ง ต่อแถวแลกเหรียญ แล้วยังต้องมาต่อแถวหยอดเหรียญอีก คือตลกอ่ะ

    ReplyDelete
  2. เรื่องราคาด้วยครับ bts แพงกว่า mrt นะ ถ้านับจำนวนสถานีย่อยๆ เช่นจากอโศกไปศูนย์วัฒนธรรม 20 บาท ถ้า bts จาก เพลินจิตไปพร้อมพงษ์ 25 บาท

    ReplyDelete
  3. ก็เป็นบริษัทเอกชนนี่นะ กำไรมาก่อน

    ReplyDelete
  4. เว็บ Carrot Rewards ก็บอกรายการใช้จ่ายนี่ครับ?

    ReplyDelete
  5. บอกรายจ่าย ไม่บอกทริปครับ (ว่าเข้าไหนออกไหน) กรณีซื้อตั๋วเป็นเที่ยวเหมาจ่าย

    ReplyDelete
  6. เป็นแนวคิดแบบ Fordist เหลือเกิน ที่ยุคนี้ไม่น่าจะเหลือแล้วเสียด้วยซ้ำ (ในเมื่อมันไม่ใช่โรงงานผลิตสินค้า แต่เป็นการบริการลูกค้า)

    ReplyDelete
  7. อันนี้เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริง ๆ ครับ :(

    ReplyDelete