![]() |
เมืองลอนดอนมีระบบขนส่งสาธารณะมากมาย แม้ว่าระบบใต้ดิน (Underground) จะมีชื่อเสียงที่สุด แต่จริงๆแล้ว ลอนดอนมีทั้งบัส จักรยาน เรือ รถราง รถไฟลอยฟ้า (Overground) รถไฟ DLR และรถไฟ Thameslink |
ต่อไปนี้ผมจะเขียนเป็นขั้น ๆ ครับ ว่าสำหรับมือใหม่ลอนดอนควรจะเริ่มต้นอย่างไรก่อนในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะของลอนดอน
ขั้นที่ 1: โหลดแอพชื่อ Citymapper ลงบนมือถือก่อน! (มีให้โหลดทั้งบน iPhone และ Android)
แอพนี้เรียกได้ว่าเป็นแอพเพียงแอพเดียวที่สามารถช่วยชีวิตคนลอนดอนจากภัยงงระบบขนส่งเมืองลอนดอนได้ สิ่งที่แอพนี้หลัก ๆ ทำได้คือ:
- มันสามารถบอกได้ว่าเราต้องขึ้นรถไฟสายไหน รถบัสสายไหน เรือสายไหน หรือขึ้นหลาย ๆ อย่างรวมกัน และจะต้องเดินไกลแค่ไหน
- มันบอกระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการเดินทาง และเวลารถบัสและรถไฟว่ารถคันต่อไปมารอบไหน
- ข้อมูลทุกอย่างเป็นข้อมูลสดที่บอกข้อมูลตามจริง ไม่ใช่แค่ข้อมูลจากตารางที่กำหนดแต่แรก
- มันคำนวนราคาให้กับเราเลย ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการเดินทาง
- มันยังคำนวนแคลอรี่อีกด้วย ว่าถ้าเราเดิน หรือปั่นจักรยาน เราจะเบิร์นแคลอรี่เท่าไหร่
- มันสามารถตรวจสอบได้ว่า ที่จุดจอดจักรยาน Borris Bike ของเมืองลอนดอน จุดไหนมีจักรยานว่างกี่คัน และจุดไหนมีช่องว่างให้จอดจักรยาน
ตัวแอพ Citymapper สามารถโหลดได้ที่เว็บ Citymapper.com ฟรีครับ หรือจะลองใช้ผ่านหน้าเว็บเลยก็ได้
![]() |
อิจฉาโคตรๆ อยากให้ทุกเมืองทั่วโลกมีแอพนี้ |
ขั้นที่ 2: ก่อนซื้อตั๋วเดินทาง คิดเสียก่อนว่าจะอยู่ลอนดอนนานแค่ไหน ใช้ขนส่งสาธารณะเยอะไหม และจะเดินทางออกไปนอกโซนกลางเมืองหรือไม่
ลอนดอน เช่นเดียวกับเมืองหลาย ๆ เมืองในโลกตะวันตก ใช้วิธีเก็บค่าเดินทางด้วยการแบ่ง Zone โดยย่านตัวเมืองลอนดอน จะเป็น Zone 1 ส่วนรอบนอกของตัวเมืองออกไปอีกนิดคือ Zone 2 ไกลต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็น Zone 3 จนไปถึงจุดที่ไกลที่สุดคือ Zone 9 ยิ่งเดินข้ามโซนมากแค่ไหน ตั๋วก็จะยิ่งแพงขึ้น
อีกสิ่งที่ต้องคิดคือเรื่องของระยะเวลาของตั๋ว บางคนซื้อตั๋วทุกครั้งที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (แต่แบบนี้จะลำบากและแพง ใช้ Oyster Card ดีกว่า ผมจะอธิบายในขั้นที่ 3 ครับ) บางคนใช้วิธีซื้อแบบเหมาไปเลย 1 หรือ 7 วัน (แบบนี้เรียกว่า Travelcards) บางคนเลือกเหมา 30 วันก็มี แต่อย่าลืมว่าตั๋วแบบเหมานี้จะมีราคาต่างกัน โดยแบบถูกสุดจะใช้ได้เฉพาะ Zone 1-2 เท่านั้น แต่ข้อดีของตั๋วเหมาจ่าย มันจะสามารถนำไปใช้ได้กับทุกระบบ ตั้งแต่รถบัส ยันรถไฟใต้ดิน และรถไฟ DLR ได้ (หากอยู่ในโซนตั๋วที่ซื้อมา)
![]() |
โซนทั้ง 6 โซนที่อยู่ภายในเขต Greater London Authority |
ขั้นที่ 3: ซื้อตั๋ว จะซื้อ Oyster Card ดีหรือไม่?
หลัก ๆ การเดินทางภายในลอนดอนด้วยระบบขนส่งสาธารณะมีสามทางเลือกครับ (ย้ำอีกที)- ตั๋วแบบเดินทางเที่ยวเดียว (single trip) ราคาจะแพงสุดต่อเที่ยว (£4.70 ต่อเที่ยวรถไฟใต้ดิน)
- ตั๋วเดินทางแบบเหมาจ่าย (travelcards) เหมาจ่ายไปเลยโดยเลือกโซนและระยะเวลา 1, 7, 30 วัน
- ซื้อ Oyster Card บัตรสมาร์ทการ์ดในการเที่ยวลอนดอน เติมเงินเข้าไปได้ ใช้เสร็จคืนเงินได้ หากใช้บัตร Oyster Card เดินทางเที่ยวเดียวในลักษณะเดียวกับบัตร single trip ในข้อแรก ราคาจะอยู่ที่ £2.20 ต่อเที่ยวรถไฟใต้ดิน)
*หมายเหตุ: ราคาที่ว่านี้ คือราคา ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ และใช้ราคาการเดินทางภายใน Zone 1
สำหรับคนที่มาลอนดอนกับผม ผมจะแนะนำเพียงสองอย่างเท่านั้นครับ คือให้ซื้อบัตร Oyster Card ไปเลย หากไม่มั่นใจว่าจะเดินทางในลอนดอนมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าค่าเดินทางถูกกว่าแน่นอน และสามารถนำบัตรไปคืนเงินค่ามัดจำบัตร และเงินจำนวนที่เหลือในบัตรได้อีกด้วย .... หรือไม่ ถ้ามั่นใจว่าจะอยู่ลอนดอนไม่เกิน 7 วัน ผมจะแนะนำให้ซื้อ Travelcards ไปเลย เพราะไม่ต้องคิดอะไรอีก ไม่ต้องยุ่งเรื่องการเติมเงิน
แต่สำหรับคนที่ซื้อบัตร Oyster Card ไปแล้ว แล้วเดินทางเยอะกว่าที่คิด เปลี่ยนใจ ก็สามารถเติมเงินเข้าบัตร Oyster Card เพื่อซื้อ travelcards โหลดเข้าไปในบัตรได้เช่นกัน
![]() |
Oyster Card สามารถซื้อได้ทุกสถานีจากพนักงานหลังเคาท์เตอร์ครับ |
*หมายเหตุ 2: ถ้าหากเดินทางแบบเที่ยวเดียวบนรถบัส แบบไม่ได้ซื้อตั๋วล่วงหน้า โปรดเตรียมเศษเหรียญไปด้วยครับ เพราะบัสบางครั้งถ้าทอนเงินลำบากเขาจะไม่ให้เราขึ้นเลย อันนี้แล้วแต่คนขับแต่ละคน อีกเรื่องคือตู้ขายตั๋วอัตโนมัติในลอนดอน จะรับเฉพาะบัตรเครดิต/เดบิตแบบ Chip and PIN เท่านั้น (มันคืออะไร อ่านตรงนี้) ซึ่งธนาคารไทยเรายังไม่ใช่ระบบนี้ เวลาจะซื้อตั๋ว อย่าลืมดูว่าเครื่องขายตั๋วเครื่องนั้นรับธนบัตรหรือไม่ เพราะบางเครื่องไม่รับ บางเครื่องรับแต่บัตรเครดิต/เดบิตเท่านั้นเช่นกัน
![]() |
ราคาตั๋วแบบจ่ายทีละครั้ง กับแบบเติมเงินเข้าบัตร Oyster Card |
ขั้นที่ 4: ก่อนเดินทาง ควรศึกษาอะไรก่อนบ้าง?
หลัก ๆ แล้ว ถ้าไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรลอนดอนมาก ก็ใช้แอพ Citymapper หรือแอพอื่น ๆ ที่คุ้นเคยครับ แอพตัวนี้จะให้ทางเลือกในการเดินทางไปจุดหมายปลายทางเราหลายแบบ หลายคอมโบ ตั้งแต่การเดินอย่างเดียว ไปถึงการขึ้นรถบัส+ใต้ดิน หรือ บัส+บัส (เปลี่ยนรถเอา) ด้วย
ข้อดีของแอพ Citymapper อีกอย่าง คือมันสามารถบอกได้ว่าในลอนดอน มีปัญหาอะไรกับระบบขนส่งไหนบ้าง
ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ ที่มีระบบขนส่งมวลชนที่เก่าแก่โคตร ๆ มากของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวระบบรถไฟใต้ดิน (Underground) ที่คนที่อยู่ลอนดอนอยู่แล้ว จะรู้เลยว่ามันพังบ่อยมาก พังทุกวัน แต่พังเฉพาะส่วนเล็ก ๆ ของทั้งระบบเท่านั้น
อีกอย่างที่ควรระวัง คือทุก ๆ ปลายสัปดาห์ รถไฟลอนดอนบางสายจะปิดทั้งสาย หรือปิดบางสถานี เพื่อให้ทีมวิศวกรของเมืองเข้าไปซ่อมบำรุง และอัพเกรดระบบที่เก่าโคตร ๆ ให้ใหม่ขึ้นครับ อันนี้ผมแนะนำให้ตรวจสอบก่อนล่วงหน้า 3 วัน หากมีแผนเที่ยวที่จำเป็นต้องใช้รถไฟใต้ดินจริง ๆ ในช่วงปลายสัปดาห์
ตรวจสอบตารางเวลาการปิดรถไฟบางสายหรือบางสถานีล่วงหน้าได้จากเว็บนี้ครับ
![]() |
สถานีนี้ปิดเสาร์อาทิตย์นี้ จะมายืนรอกันทำไมครัซ? |
ขั้นที่ 5: เดินทางด้วยความมั่นใจ อย่าลืมยืนชิดขวา แต่ถ้าจะเดิน ให้ชิดซ้ายบนบันไดเลื่อนนะครับ
ขั้นที่ 6: เดินทางในลอนดอนระดับเทพ ทำอย่างไร?
คำเตือน: เฉพาะคนที่สามารถเดินทางได้ระดับเทพจริง ๆ เท่านั้น ถึงควรจะลอง (อิอิ)
- เวลาขึ้นรถบัส ให้เดินขึ้นชั้นสองไปเลย แล้วนั่งเก้าอี้แถวหน้าสุด วิวดีมาก ฟินครับ
- บัสรุ่นใหม่ ๆ ที่ตัวบัสโค้ง ๆ มน ๆ (ภาพด้านล่างของโพสต์นี้) ผู้โดยสารสามารถขึ้นรถจากประตูไหนของรถก็ได้ครับ หน้า กลาง หลัง ได้หมด วิวจากบันไดด้านหลังของรถคันนี้ สวยมากเช่นกัน
- เวลาขึ้นรถไฟใต้ดิน (Underground/Tube) ให้โหลดอีกแอพตัวนึงชื่อ Tube Exits แอพตัวนี้จะบอกให้เราขึ้นรถไฟโบกี้ไหน เพื่อให้ตอนลงที่สถานีปลายทาง เราสามารถเดินออกไปทางออกได้เร็วกว่าคนอื่น (เพราะโบกี้นั้นอยู่ใกล้ทางออก ซึ่งแต่ละสถานีไม่เหมือนกัน)
- แผนที่รถไฟใต้ดิน หรือ Tube Map ที่จริงแล้วไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับระยะทางระหว่างสถานีในชีวิตจริง จริง ๆ แล้ว ถ้าเราจะเดินทางระหว่างสองสถานีที่อยู่ติด ๆ กัน เดินบนดิน อาจจะประหยัดกว่า และเร็วกว่ามาก โดยเฉพาะระหว่างสถานี Leicester Square และ Covent Garden กับสถานี Covent Garden และ Holborn
- สถานีบางสถานี ถึงแม้ในแผนที่จะเขียนว่าเป็นจุดเปลี่ยนรถที่สถานีเดียวกัน แต่เอาจริงแล้วต้องเดินใต้ดินภายในสถานีเป็นกิโลเลย โดยเฉพาะสถานี Green Park โหดมากครับ
- รถไฟใต้ดินลอนดอน มีสองแบบด้วยกัน คือแบบ Deep Underground กับแบบ Subsurface แบบแรกตัวรถไฟจะมีขนาดเล็กและกลม คนตัวสูงหัวติดเพดานแน่นอน ส่วนแบบ Subsurface จะเป็นรถขนาดใหญ่ ติดแอร์ เย็นสบาย
- ถ้าไม่มีบัตรเครดิตหรือเดบิตแบบ Chip and PIN อย่าได้ลองพยายามเช่าจักรยาน Boris Bikes / Barclays Bike ของลอนดอนครับ เพราะยังงัยก็ทำไม่ได้
- สถานี Tottenham Court Road มีทางลัดเยอะมากภายในสถานี ไม่จำเป็นต้องเดินตามทางที่ป้ายบอกครับ
- สถานีบางสถานี มีการแยกระบบผู้โดยสารเดินเข้า แยกออกจากผู้โดยสารเดินออก โดยเฉพาะ Oxford Circus แนะนำอย่าเดินสวนทางเป็นอันขาด
- การเดินทางบนรถไฟใต้ดินสาย Central Line และ Northern Line ช่วงคนทำงานเดินทาง เป็นความคิดที่แย่มาก โดยเฉพาะหน้าร้อน ควรเลี่ยงที่สุด
- สถานีบางสถานีจะใช้ลิฟท์ขนส่งผู้โดยสาร เนื่องจากตอนสร้างสถานี ไม่มีพื้นที่พอที่จะทำบันไดเลื่อนเชื่อมตัวชานชาลากับพื้นดินเข้าด้วยกันได้ โปรดอย่าคิดว่าตัวเองเจ๋ง และเดินขึ้นบันไดตามคนลอนดอนบางคน เพราะบางสถานีมันลึกเกือบ 15 ชั้นลงไปใต้ดิน (เว้นแต่ว่ารู้สึกว่ากินเยอะ เลยอยากออกกำลังบ้างอะไรบ้าง) แนะนำให้รอลิฟท์เถอะครับ (สถานี Covent Garden เป็นหนึ่งในนั้น)
- ลอนดอนมีสถานีรถไฟใต้ดินที่ถูกปิดตาย และร้าง แต่สามารถมองเห็นได้เมื่อนั่งรถใต้ดินอยู่ หากสังเกตดี ๆ โดยเฉพาะระหว่างสถานี South Kensington กับ Knightsbridge
- เวลาจะนั่งรถไฟสาย Bakerloo Line อย่าทุ่มตัวลงไปในเก้าอี้แรงเกิน เพราะจะทำให้คนที่นั่งข้างๆ โดนแรงลมจากเบาะอัดจนเด้งหัวโขกเพดานรถได้
- ผู้โดยสารสามารถกินน้ำ กินข้าว กินขนม ได้บนระบบรถไฟลอนดอนทุกระบบ นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมพื้นถึงสกปรก ไม่ก็เหนียว หรือบางครั้งก็มีซากนม ซากกาแฟหกเต็ม
- อย่ามองลงไปในรางมาก เพราะมีหนูเพียบ
- นักดนตรีที่เข้าไปเล่นดนตรีในระบบ Underground ส่วนใหญ่ จะผ่านการออดีชั่นมาแล้วเรียบร้อย ผ่านเข้ารอบได้ขนาดได้เล่นจริงตามสถานีย่อมไม่ธรรมดา ยืนฟังได้ครับ ไม่มีใครว่า
- Thameslink เป็นระบบรถไฟที่วิ่งข้ามแม่น้ำ จากซีกบนของลอนดอน มาซีกล่าง แต่ตัวสถานีมันหายากมาก ใครหาสถานีเจอ ลองขึ้นรถไฟนี้ดูครับ แปลกดี (เถื่อนดีด้วยคนเมาเพียบเลย)
ขอให้โชคดีในลอนดอนครับ
ไปเรียนภาษาที่เคมบริดจ์และมีโอกาสได้ไปลอนดอนวันเดียวค่ะ
ReplyDelete1.อยากทราบว่าควรใช้ one day travel card หรือoyster card ดีคะ
2.หากใช้ one day bus pass จะเพียงพอหรือไม่คะ
ถ้าไม่รีบมาก one day bus pass ก็เพียงพอครับ (ยิ่งช่วงนี้มีปิดประท้วงเยอะ) แต่ถ้าจะเอาสะดวก one day travel card ไปเลย
ReplyDeleteจะไปเที่ยวอังกฤษ 9 วัน 8 คืนค่ะ ระหว่าง 1-3 คาดว่าจะอยู่แต่ในลอนดอน (นั่งจาก heathrow โซน 6 เข้ามา) วันที่ 4 ไปต่างเมือง วันที่ 5 คาดว่าอาจจะซื้อทัวร์จากลอนดอนไป stonehenge วันที่ 6 ไป oxford กลับมาลอนดอน วันที่ 7 บ่ายไปเที่ยวอีกเมืองค้างคืน กลับลอนดอนวันที่ 8 แล้วกลับไทยวันที่ 9 ไฟลท์กลางคืน
ReplyDeleteคิดว่าจะซื้อ 7 days travelcard ไปเลย (เอาสะดวก) แล้ววันที่ 18-19 ซื้อเป็น day card หรือ oyster ดีคะ
แบบนี้ oyster ไปเลยครับ เติมเงินเอา
ReplyDeleteถามอีกนิด หมายถึง oyster ตั้งแต่วันแรกเลยป่ะคะ หรือว่า 7 วันแรกใช้แบบ 7days ดี แล้วค่อยซื้อ oyster สองวันหลัง
ReplyDeleteคำนวณแล้วยังงงๆอ่ะค่ะ
ขอบคุณค่ะ
ผมว่าวิธีดีที่สุดคือ oyster ตลอดครับ เพราะถ้า 7 วันหารดูแล้วยังไม่คุ้มครับ (ยิ่งมีต้องใช้จาก Zone 6 heathrow ด้วยยิ่งไม่คุ้ม เพราะแบบ 6 โซนแพงมาก)
ReplyDeleteขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ อ่านสนุกเข้าใจง่ายมากเลยค่ะ
ReplyDeleteถ้าไม่รบกวนเกินไปขอถามนิดนึงนะคะ คือคิดว่าอยากจะไปลอนดอนสัก 3 วัน เฉพาะที่ที่เป็น tourist attractions น่ะค่ะแล้วจากนั้นจะออกนอกเมืองสัก 2 วัน คุณต้นแนะนำว่าควรจะเลือกใช้บัตรแบบไหนดีคะ
ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
ขอถามค่ะ การขนส่ง เริ่มเเละหยุดทำการกี่โมงคะ
ReplyDeleteส่วนใหญ่แล้วเที่ยงคืนก็ปิดครับ ส่วนบัสจะมีบางเส้นที่เขียนหน้าป้ายว่า 24-hour ไม่ก็เขียน N นำหน้าหมายเลข นั่นคือเป็นบัสยามดึกครับ
ReplyDeleteสวัสดีค่ะ ถามตอนนี้ยังทันไหมคะ คือจะไปช่วง พค. นี้ค่ะ
ReplyDeleteสงสัยเรื่องบัตร oyster ค่ะ
คือเราจะนอนอยู่ london ประมาณ 7 วัน และช่วงสามวันแรกจะไปเมืองอื่นแบบเช้าไปเย็นกลับ การเดินทางก็จะมีแค่ขึ้นรถไปที่สถานีตอนเช้า กะเย็น
วันอื่นเดินทางในลอนดอน อยากจะทราบว่าแบบนี้ ซื้อแบบเติมเงิน หรือเหมาอาทิตย์จะคุ้มกว่าคะ?
แบบเติมเงินน่าจะเหมาะกว่าครับ คิดซะว่าถ้าใช้ไม่เกินวันละ 4 รอบลุยเติมเงินไปเลย
ReplyDeleteรบกวนถามหน่อยสิครับ ไป 5 คืน พักแถว สนามบิน เนื่องจากงาน อยากเข้าลอนดอน แบบประหยัด ช่วง off peak ก็ได้ บัตร เตืมเงิน oyster คุ้ม มั้ยครับ
ReplyDelete