Sunday, 25 August 2013

อนาคตเศรษฐกิจไทยอาจแย่ เพราะว่าประชากรวัยทำงานไทยเริ่มลดลง



ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมคนหลายคน ถึงเข้าใจว่าการที่ประเทศเรามีประชากรน้อยลง จะทำให้ประเทศเจริญขึ้น หลายคนบอกว่าการมีประชากรน้อย ทำให้ตัวหาร GDP ประเทศมันน้อยลง ทำให้รายได้ต่อหัวเราสูงขึ้น แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ เรื่องนี้ใครเรียนเศรษฐศาสตร์พื้นฐานมาก็คงทราบดีอยู่แล้ว แต่เห็นมีความเชื่อเรื่องนี้ผิด ๆ เยอะ เลยขอเขียนอธิบายว่าทำไมเศรษฐกิจประเทศของเราอาจจะมีปัญหา ถ้าประชากรของเราเริ่มลดลง

ถ้าใครตามข่าว จะพบว่าสำนักข่าวธุรกิจและเศรษฐกิจของหลายประเทศ ได้เขียนข่าวเกี่ยวกับ Demographics ของประเทศเรา ที่ต่างจากประเทศแถบเอเชียซีกใต้ประเทศอื่น เคยมีข่าวจากสำนักหนึ่ง ถึงขั้นเรียกเราว่าประเทศไทยในอนาคต จะเป็นประเทศที่ "แก่" และ "จน" (ผมหาบทความนี้ไม่เจอแล้ว​ ลองหาบน Google ดูครับอาจจะเจอ) แต่เจอใกล้เคียงจาก The Nation

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา



ประชากรของเราน้อยลงอย่างไร ตอนไหน?

จากการคำนวนครั้งล่าสุดของ UN ประชากรวัยทำงานของประเทศไทยจะถึงจุดสูงสุดในปี 2017 แทนที่จะเป็นปี 2020 ซึ่งนั่นแปลว่าแรงงานภายในประเทศของเราจะลดลงเร็วกว่าที่คิด โดยก่อนปี 2023 เราจะมีแรงงานหมุนเวียนภายในเศรษฐกิจของเราลดลงจากทุกวันนี้ 1.2% (อ้างอิงจาก BAML)


ประชากรวัยทำงานประเทศต่าง ๆ สูงสุดในปีไหน

ซึ่งนี่หมายความว่า ถ้าเศรษฐกิจของเราจะมีขนาดลดลง 1.2% ถ้าหากประเทศเราไม่สามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ไม่น้อยกว่า 1.2% ได้ภายในปี 2023 นี่อาจจะฟังดูไม่น่ากลัวเพราะเราสามารถโตได้เกินปีละ 1% อยู่แล้ว แต่เราจะสามารถโตต่อไปได้เรื่อย ๆ ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้จริงหรือเปล่า?

เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ประชากรวัยทำงานของประเทศจีน จะอยู่จุดสูงสุดในปี 2015, เกาหลีใต้ปี 2016, ASEAN โดยรวมปี 2045, อินเดียปี 2050 และอินโดนิเซียปี 2058 ส่วนฟิลิปปินส์จะอยู่ที่ปี 2085

แล้วประชากรลดลงมันแย่อย่างไร?

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว วิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตอย่างรวดเร็วที่สุดมีอยู่สองวิธี วิธีแรกคือการเพิ่มแรงงานภายในประเทศเพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศ อีกวิธี คือการทำให้แรงงานภายในประเทศที่มีอยู่เท่าเดิม เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น โดยวิธีที่สองนี้มันยากกว่าวิธีแรกอย่างแน่นอน และส่วนใหญ่การทำแบบนี้ได้ ก็ทำได้แค่เพิ่มประสิทธิภาพ แก้ไขการจัดการและบริหารแรงงานระดับประเทศ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต

นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมเราถึงเริ่มเห็นปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว และมีประชากรที่เริ่มลดลงอย่างกลุ่มประเทศในยุโรป และญี่ปุ่น เพราะว่าพวกเขาเหลือวิธีเดียวในการโต นั่นก็คือการเพิ่มผลผลิตต่อคน ที่แย่ไปกว่านั้น ประเทศเจริญแล้ว ประชากรอายุมากที่เคยเป็นกลุ่มแรงงานที่ใหญ่ที่สุดเริ่มเพิ่มขึ้น เงินหมุนเวียนภายในประเทศที่ควรจะนำมาพัฒนาผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ กลับถูกนำไปใช้ในการจ่ายเงินเลี้ยงชีพคนสูงอายุเสียแทน

ญี่ปุ่น เจอปัญหาเศรษฐกิจติดต่อกันมาตลอด รวมไปถึงปัญหาที่หลายประเทศไม่ค่อยเจอ เช่น อัตราเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งสร้างปัญหามากกว่าปัญหาเงินเฟ้อทั่วไปมาก

ประชากรลดลง นอกจากจะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจยากแล้ว ยังจะทำให้ค่าจ้างแพงขึ้นไปอีก เพราะว่ามีความต้องการในการใช้แรงงานที่สูงขึ้นมาก นั่นหมายความว่าบริษัทจะได้กำไรที่น้อยลงจากค่าจ้างที่แพงขึ้น บริษัทเหล่านี้ก็มีทางเลือกว่าจะยอมลดกำไรของตัวเอง, จะคิดราคาสินค้าตัวเองให้แพงขึ้น, หรือไม่ก็ย้ายไปเปิดกิจการในประเทศอื่นที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่า

ปัญหาที่ตามมาต่อไป ก็คือเมื่อการลงทุนน้อยลง อีกทั้งการที่บริษัทภายในประเทศตัวเอง อาจจะต้องหนีไปผลิตที่ประเทศอื่นเพราะว่ามันถูกกว่า คุ้มค่ากว่า จะส่งผลให้ประเทศเราต้องเริ่มนำเข้าสินค้าและบริการ ปัญหานี้บวกกับการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในประเทศที่ลดลง จากการที่ประชากรเริ่มเปลี่ยนจากโหมดทำงานหาเงิน มาเป็นโหมดประหยัดเมื่อมีอายุมากขึ้นและไม่ทำงานแล้ว (เช่นญี่ปุ่น) ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เริ่มลดลงอีกครั้ง และเมื่อราคาสินค้าเริ่มลดลง ก็จะเกิดปัญหาทั้งหมดนี้ครบวงจรอีกครั้ง

นี่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมประเทศเจริญแล้วหลาย ๆ ประเทศ​ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตก ถึงมีนโยบายที่ยอมให้แรงงานต่างชาติมีความรู้ มีความสามารถ (skilled labor) ที่ยังมีอายุไม่มากเกินไป เข้ามาทำงานในประเทศซักระยะ จากนั้นก็สามารถแปลงสัญชาติไปเป็นคนประเทศเขาได้เลย เพราะว่าวิธีนี้เป็นวิธีเพิ่มแรงงานภายในประเทศที่ได้ผลดี แถมยังประหยัดงบประมานที่ต้องมาเลี้ยงดูประชากรแต่เล็ก ไม่ต้องเลี้ยงดูและเสียค่าให้ความรู้ตั้งแต่เด็ก ว่าง่าย ๆ ได้แรงงานคุณภาพให้แก่ประเทศฟรีโดยไม่ต้องลงทุนไปกับการศึกษาและเลี้ยงดูเลย ประเทศที่ว่านี้ได้แก่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เยอรมนี หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์

พิธีสาบานตนเพื่อรับสัญชาติใหม่

แล้วสำหรับประเทศไทย ปัญหานี้รุนแรงแค่ไหน

ผมไม่มีข้อมูลเรื่องนี้จริง ๆ แต่ส่วนตัวคิดว่าในฐานะที่เราเป็นประเทศที่ส่งออกเป็นหลัก ปัญหานี้คงมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การที่เรามาเจอปัญหานี้แล้วตอนที่ประเทศเรายังมีรายได้ค่อนข้างน้อยมาก ในระยะยาวอาจจะทำให้เราเป็นประเทศที่จนกว่าหากไม่มีการเร่งปรับโครงสร้างแรงงานภายในประเทศ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเร่งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่สร้างรายได้จากความสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญา ขายบริการให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าส่งออกให้ได้จำนวนที่มากขึ้นด้วยแรงงานที่เท่าเดิมหรือน้อยลง ว่าง่าย ๆ ยุคที่เราจะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์แทนพนักงานตำแหน่งโน้นนี้มันจะเริ่มมาเมืองไทยแล้วเช่นกัน

ประเทศเกาหลีใต้ อาจจะเห็นปัญหานี้ของเขามาได้ซักพัก นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศเขาอยู่ดี ๆ ถึงเริ่มมีการเน้นการส่งออกวัฒนธรรมบันเทิงมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มขายสินค้าประเภททรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นเช่นกัน ที่ว่านี้ คือสินค้าไฮเทคทั้งหลาย

คู่แข่งที่ขายสินค้ากับเราในตอนนี้ ที่สามารถผลิตสินค้าที่คุณภาพพอ ๆ กับเราได้ คืออินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้เริ่มทำให้เราขายสินค้าได้ลำบากพอแล้ว แต่พวกเขายังมีเวลาอีกเหลือเฟือ เพราะประชากรวัยทำงานของพวกเขาจะถึงจุดสูงสุดในปี 2050, 2085 และ 2058 ตามลำดับ

แล้วประชาชนทั่วไปอย่างเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้?

ประท้วง หรือเรียกร้อง (ฮา) ให้รัฐแบนถุงยางอนามัย

อดีตนายกเป็นปลื้ม ภาพจากผู้จัดการ (จริงๆแค่นึกไม่ออกว่าจะใส่ภาพอะไรดี)
พูดเล่นครับ แต่ถ้าเอาจริงๆ แล้วสิ่งใกล้ตัวที่ควรทำเพื่อช่วยเหลือประเทศในทางอ้อมได้ ก็คือการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมประเภทสร้างสรรค์ในประเทศสามารถเอาตัวรอด และเริ่มแข่งขันกับนานาชาติได้ ผมเห็นหลายครั้งที่นักพัฒนาไอทีไทยทำแอพออกมา สุดท้ายก็ท้อแล้วไปรับจ้างเขียนแอพให้ฝรั่งแทนเพราะว่าทำเกมออกมา คนไทยก็แฮกเล่นฟรีกันเอง ไม่ยอมเสียเงิน นี่ถือว่าเป็นการทำลายอนาคตของเศรษฐกิจประเทศในทางอ้อมเลย

อย่างที่สอง อาจจะยากสำหรับหลายคน คือการเริ่มปั้มลูก และสร้างอนาคตให้ดีกับลูกคนนั้นด้วย เพื่อจะได้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต ไม่ใช่ปั้มเอามันส์อย่างเดียว ถ้าคุณเป็นคนรักร่วมเพศที่มีลูกไม่ได้ ก็ควรผลักดันให้รัฐยอมรับสถานะของคุณ แล้วหาทางมีลูกต่อไป

อย่างที่สาม ถ้าคุณเป็นแรงงานมีคุณภาพแล้ว อย่าออกไปทำงานที่ต่างประเทศ (brain drain หรือสมองไหล) อันนี้บอกตามตรงว่าเป็นเรื่องยากที่จะห้ามได้ เพราะว่ามันเป็นสิทธิของคุณ มันเป็นสิทธิของคนที่มีทางเลือกที่ดีกว่า และส่วนหนึ่งก็ต้องโทษการบริหารประเทศเราตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วย ที่ว่าเราไม่เคยสร้างทางเลือกที่ดีกว่าการออกไปทำงานที่อื่นให้แก่แรงงานที่อาจจะมีส่วนเพิ่มผลผลิตต่อคนในประเทศได้ด้วยความรู้ที่พวกเขาได้มาจากต่างประเทศ

อย่างที่สี่ คือการผลักดันให้รัฐบาลไทย เริ่มรับแรงงานที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เข้ามาทำงานภายในประเทศมากขึ้น และทำอย่างไรก็ได้ให้คนเหล่านี้เลือกที่จะอยู่ กิน ใช้เงิน และจ่ายภาษีเข้าประเทศเรา สิ่งที่สำคัญในข้อนี้คือเรื่อง "คุณภาพ" ครับ แต่สิ่งที่เราต้องยอมรับคือ ประเทศเราใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้คุ้มมากจริง ๆ ทุกวันนี้ ทั้งเรื่องกดค่าจ้าง ฯลฯ ถ้าเราไม่แคร์เรื่องการเคารพสิทธิของแรงงานต่างด้าว นี่อาจจะเป็นทางออกของประเทศเราก็ได้

อนาคตประเทศไทย ต้องเกิดมาหัวดำเท่านั้นใช่หรือ?
คิดเห็นอย่างไร ผิดตรงไหน มีอะไรอยากถามเพิ่มเติม คอมเมนท์ได้เลยครับ ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ

No comments:

Post a Comment