Thursday, 16 August 2012

แท็กซี่ปฏิเสธลูกค้า เพราะค่าแท็กซี่เราถูกไปหรือเปล่า?

ตอนนี้คนกรุงเทพและคนไทยคนอื่น ๆ ที่ต้องใช้บริการแท็กซี่ใน กทม. เป็นครั้ง ๆ คราว ๆ อาจจะชินชาไปเสียแล้วกับพฤติกรรมของคนขับรถแท็กซี่ใน กทม ส่วนหนึ่ง แต่ต้องขอย้ำว่าส่วนหนึ่งเพราะแท็กซี่ดี ๆ ก็หาได้ และดีมากอย่างสุดซึ้งก็พบเห็นได้เป็นประจำเหมือนกัน สำหรับผมแล้วในฐานะที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองอื่น ๆ มาบ้างแล้ว และได้เรียนเศรษฐศาสตร์เบสิก ๆ มา เลยอยากจะขอเสนอมุมมองของผมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวครับ


ทำไมแท็กซี่ถึงปฏิเสธผู้โดยสารเป็นประจำ

เรื่องนี้ตามหลักเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายได้ง่ายมากครับ สินค้าและบริการทุกอย่างจะมีตลาดของมัน และในตลาดจะต้องมีผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายเห็นราคาที่ต่างฝ่ายต่างยินดีและพร้อมที่จะจ่าย ณ ราคาที่ตกลงได้ เมื่อนั้นการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการย่อมเกิดขึ้น

แท็กซี่ฮายโซว

ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร มันบ่งบอกให้เราเห็นอย่างหนึ่ง ว่ามันเกิดจากการที่ผู้ขาย (supplier) ไม่ยินยอมกับราคาที่เป็นที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร ซึ่งในกรณีสำหรับ กทม แล้ว นั่นก็คือราคามิเตอร์ที่ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดนั่นเอง ซึ่งส่วนตัวผมเองผมก็ต้องบอกว่าแท็กซี่ใน กทม มีราคาถูกอย่างน่าเหลือเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศ​ หรือแม้กระทั่งรถสองแถวในจังหวัดอื่น ๆ ที่จะมีราคาเหมาคันที่แพงกว่านี้อยู่มาก

ราคาจากมิเตอร์ที่เป็นตัวบีบ ทำให้คนขับแท็กซี่หลายคนปฏิเสธที่จะให้บริการ (แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม) แต่อย่าลืมว่าที่นี่เมืองไทย และแท็กซี่ส่วนใหญ่ก็กลับเลือกที่จะลองเสี่ยงไม่ให้บริการ เพราะนาน ๆ ทีอาจจะโดนปรับที หรือไม่ค่าปรับก็อาจจะคุ้มกว่าค่าเสียเวลาและโอกาสที่ต้องเจอรถติดหรือเจอผู้โดยสารรายอื่นที่อาจจะเลือกให้ไปเส้นทางที่ดีกว่า

สิ่งที่มันส่งเสริมให้แท็กซี่เลือกที่จะปฏิเสธผู้โดยสารอีกอย่าง ก็คือผลพวงของการกดราคามิเตอร์ ให้ต่ำกว่าราคราตลาดที่แท้จริงที่ผู้ขายจะยอมรับได้ ซึ่งก็คือตลาดมืด ในที่นี้ตลาดมืดก็คือการให้บริการด้วยการไม่เปิดมิเตอร์นั่นเองครับ และทำไมมันถึงมีตลาดมืดได้ล่ะ?

คำตอบก็คือเพราะว่ามันมีคนยอมจ่ายเพื่อรับบริการในราคาตลาดมืด ที่สูงกว่าราคามิเตอร์ไงล่ะครับ ยกตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ เลยคือนักท่องเที่ยว ที่เคยชินกับค่าแท็กซี่ที่สูงปรี๊ดในประเทศอื่น ๆ เขาเห็นราคาแท็กซี่ไทยอาจจะหัวเราะเลยก็ได้ แต่นั่นล่ะ เมื่อเขาเห็นราคาเหมามันไม่ได้แพงอะไรขนาดนั้นสำหรับเขา เขาเลยยินยอมจ่าย เมื่อมีคนที่ยินยอมจ่ายที่ราคาตลาดมืด มันก็ย่อมมีคนให้บริการที่ราคานั้น ซึ่งสูงกว่าราคาควบคุม (หรือราคามิเตอร์นั่นเอง)


เปรียบเทียบราคาแท็กซี่ไทยกับแท็กซี่ต่างประเทศ

อันนี้หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่ามันเหมาะสมซะทีเดียว ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะว่าโครงสร้างต้นทุนที่แตกต่าง ตั้งแต่ค่าแรง ค่าครองชีพ ไปจนถึงค่าน้ำมัน ผมจึงไม่อยากจะเอาอะไรมาเปรียบเทียบ แต่ส่วนตัวในฐานะที่ผมเคยอาศัยอยู่ในเมืองอื่น ๆ ในต่างประเทศมาแล้ว ผมต้องบอกว่านิยามของการใช้บริการแท็กซี่ในต่างประเทศมันต่างจากของเรามากครับ

คือแท็กซี่ในต่างประเทศนี่มันเป็นอะไรที่ luxury หรือเป็นอะไรที่หรูหรา และคนท้องถิ่นต่อให้รายได้ต่อหัวจะสูงแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นนักเรียน ถ้าไม่มีความจำเป็นในด้านอื่นจริง ๆ จะเลี่ยงได้ก็เลี่ยงครับ และไม่มีใครแน่นอนที่ใช้บริการแท็กซี่เป็นประจำ นอกเสียจากคนนั้นจะรวยจริง ๆ คนชนชั้นกลางไม่มีวันใช้แท็กซี่เป็นประจำหรอก นอกจากจะ pool ค่าขึ้นแท็กซี่กับคนอื่น 

แต่จากประสบการณ์ เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ทุกเมืองเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนดีมากอยู่แล้ว ทำให้แท็กซี่มักจะเป็นทางเลือกเกือบสุดท้ายจริง ๆ เช่นตอนดึก เมื่อเมืองเริ่มอันตรายแล้วไม่อยากขึ้นรถไฟกลับบ้านคนเดียว หรือเมื่อมีของที่ต้องขนเยอะเพื่อไปสถานีรถไฟหรือสนามบิน ฯลฯ

สรุปสั้น ๆ: คนไทยเราอาจจะใช้แท็กซี่ *ฟุ่มเฟือย* ครั้งจนเกินไป



วิธีแก้ปัญหานี้ล่ะ

ถ้ามีเวลาจริง ๆ ผมอาจจะเอาตัวเลขต่าง ๆ มาคำนวนให้เห็นเป็นตัวอย่างบ้าง แต่บังเอิญบล็อกนี้ผมรีบเขียนมากเพราะว่าไม่ค่อยมีเวลา และกลัวว่าจะลืมเสียก่อนว่ากำลังเขียนอะไรอยู่ คือถ้าจะให้บอกตามตรง ในฐานะที่ผมมีความรู้เศรษฐศาสตร์พื้นฐานมาบ้าง ผมจะเลือกใช้วิธีที่เกี่ยวข้องกับกลไกของตลาดโดยตรงในการแก้ปัญหา มากกว่าวิธีที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ใน กทม (เช่น การกวดขันให้ตำรวจตรวจจับแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารให้บ่อยครั้งขึ้น)

วิธีแรก

วิธีแรกที่ผมอยากจะเสนอ คือการปรับราคาให้สมราคา และสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนของคนขับรถแท็กซี่ ครับ นั่นหมายความว่าจะต้องขึ้นค่าแท็กซี่นั่นเอง เช่น จากเดิมเริ่มต้น 35 บาท มาเป็น 50 บาท แล้วค่อย ๆ เพิ่มครั้งละ 5 บาท (เรื่องระยะทางผมไม่ทราบ เพราะไม่ได้รู้รายละเอียดตรงนี้มาก)

หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่าการขึ้นราคา จะทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกเพราะมันแพงเกินไป ซึ่งผมก็เห็นด้วยเช่นกัน แต่มันเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ดีและรวดเร็วที่สุด และอาจจะเห็นผลได้เกือบทันที วิธีทดลองง่าย ๆ ซึ่งผมเคยลองแล้วคือการโบกเรียกแท็กซี่ใน กทม หลังจากที่บอกสถานที่ไป เขาตอบปฏิเสธผม แต่เมื่อผมเสนอเพิ่มเงินให้แค่ 20 บาท เขากลับยอมไป (จากหน้าเซ็นทรัลเวิร์ล ไปถนนหลังสวนตอน 4 ทุ่ม)

การเพิ่มราคาควบคุม (shifting the price ceiling up) เป็นวิธีที่ทำให้ราคาที่ตกลงไว้ ใกล้เคียงกับราคาจริงในตลาดเสรีที่ไร้การควบคุม แต่แน่นอน ผลที่ตามมาก็คือคนอาจจะใช้แท็กซี่น้อยลง และผลที่อาจจะตามมาอีกคือจำนวนแท็กซี่ที่อาจจะลดลงเพราะผู้โดยสารลดลง แต่เราก็ไม่มีทางทราบได้เพราะเรายังไม่เคยลอง (และไม่ทราบว่าเคยมีการศึกษาทางด้านนี้แล้วหรือยัง)

แพงจัง แต่โบกแล้วได้เลยจัง


วิธีที่สอง

ปล่อยให้แท็กซี่สามารถปรับเรตมิเตอร์ของตัวเองได้อย่างเสรี (Deregulation of taxi fares) ว่าง่าย ๆ เป็นการใช้กลไกราคาตลาดอย่างแท้จริง 100% วิธีนี้ไม่เหมือนการปิดมิเตอร์ซึ่งเป็นการตั้งราคาตามใจแท็กซี่ แต่นี่เป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้แท็กซี่ตั้งราคาบนมิเตอร์ของตัวเองได้ ว่าจะเริ่มต้นเท่าไหร่ และจะคิดต่อกิโลเมตรละเท่าไหร่ วิธีนี้จะดีกว่าคือมันยังคงความเป็นมาตรฐานไว้อยู่ ว่าราคาจะเพิ่มลดตามระยะทางและเวลาที่ใช้บริการ แต่มันเปิดโอกาสให้แท็กซี่สามารถลดราคาลงได้ หากคิดว่าผู้โดยสารไม่ยอมขึ้นเพราะราคาแพงไป หรือเพิ่มราคาได้เมื่อคิดว่าตัวเองไม่คุ้มทุน

วิธีนี้ไม่ใช่วิธีแปลกใหม่อะไรนะครับ เมือง Stockholm ในประเทศสวีเดน และประเทศนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่บริษัทแท็กซี่หรือคนขับแท็กซี่อิสระ สามารถที่จะตั้งราคามิเตอร์ของตัวเองได้ โดยจะต้องติดป้ายบนรถของตัวเองว่ารถแท็กซี่คันนี้คิดราคาเท่าไหร่ในเวลาไหน ผู้โดยสารเองก็จะได้มีทางเลือกเช่นกัน ว่าจะยอมจ่ายหรือไม่

ป้ายราคาแท็กซี่ในกรุงสต็อคโฮล์ม สวีเดน ป้ายซ้ายแนะนำไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นเพราะแพง อันขวาถูกกว่า แท็กซี่แต่ละคันสามารถที่จะตั้งราคาของมิเตอร์ตัวเองได้อย่างอิสระเสรี ใครตั้งแพงก็ต้องยอมรับว่าจะได้ผู้โดยสารน้อยกว่า

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์หลายคน วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่สร้างปัญหาให้กับสังคมน้อยที่สุด เพราะว่ามันเป็นการสร้างตลาดที่มีการแข่งขันโดยสมบูรณ์ที่สุดแล้ว (Equilibria) เมื่อแท็กซี่คันไหนคิดแพงก็จะไม่มีคนขึ้น คันไหนคิดถูกกว่าก็จะมีผู้โดยสารมากกว่า เมื่อในเมืองมีแท็กซี่มากเกินไป เมื่อนั้นราคาก็จะถูกเพราะมีผู้ให้บริการมากเกิน การแข่งขันสูงเกิน 

เมืองที่แท็กซี่เยอะแบบนี้ ไม่แข่งกันลดราคา ก็คงต้องลดจำนวนแท็กซี่ลง ด้วยกลไกตลาด

แล้วสำหรับกรุงเทพ จะทำอย่างไรดี

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าวิธีแรกเป็นวิธีที่ง่ายและเร็ว ซึ่งผมว่ามันจะเห็นผลทันที ไม่สับสนต่อนักท่องเที่ยวหรือคนที่ไม่เคยมา กทม มาก่อน ที่จะไม่ทราบว่าปกติแล้วราคาที่เหมาะสมของแท็กซี่เป็นราคาอะไรกันแน่ และจะปิดช่องว่างไม่ให้ถูกหลอกด้วย แต่เช่นกัน มันจะไม่ใช่การกระตุ้นการแข่งขันได้ดีเท่ากับวิธีที่สอง ซึ่งแน่นอนถ้าประชาชนอยากได้บริการที่ราคาถูก ก็ย่อมต้องใช้วิธีที่สองที่สุดท้ายแล้วมันจะเกิดการแข่งขันทางด้านราคาในที่สุด (หรือไม่ก็มีคนขับแท็กซี่น้อยลงในเมืองเพราะรับสภาวะการแข่งขันไม่ได้)

อีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นทางเลือกอยู่เสมอก็คือการที่จะไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้ปัญหาทุกวันนี้เป็นปัญหาต่อไป (status quo) จงอยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน

มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ?
ป.ล. ถ้าข้อมูลผมผิดพลาด หรือผมเข้าใจผิดตรงไหน เขียนแนะนำมาได้เลยนะครับ ยินดีจะเรียนรู้เพิ่มเสมอ

7 comments:

  1. เดี๋ยวนี้ผมเลิกขึ้นแทกซี่แล้วครับ
    เดินเอา ดีสุด ไม่งั้นก็ขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือดีกว่า

    ถ้าคนเลิกขึ้นเยอะๆ ก็คงมีจุดสมดุลที่ทำให้แทกซี่กลับมารับผู้โดยสารเหมือนเดิมละมั้ง

    ReplyDelete
    Replies
    1. ส่วนตัวแล้ววิธีนี้ถ้าทุกคน (รวมถึงนักท่องเที่ยว) รวมตัวกันอาจจะได้ผลครับ

      แต่ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ และยังมีบุคคลที่ยินยอมที่จะจ่ายเพื่อขึ้นแท็กซี่ในราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน วิธีนี้ก็ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก แต่ถ้ามีทางเลือกจริง ๆ ผมก็เลี่ยงแท็กซี่ล่ะครับ

      Delete
  2. 1) เห็นด้วยว่า ทุกวันนี้ค่าแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างถูกจริง

    2) ผมไม่แน่ใจว่า อย่างสตอกโฮล์มมีลักษณะแบบนั้น แต่พฤติกรรมการใช้แท็กซี่ในกรุงเทพฯ จะคล้ายกับพวกเมืองใหญ่ (เช่น นิวยอร์ก) ที่แท็กซี่จะวิ่งอยู่ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเรียกตามจุดหรือโทรศัพท์เอา ดังนั้น หากสมมติว่าลักษณะข้อนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง การจะ deregulate ราคาก็จำเป็นต้องแน่ใจว่า จะสามารถเห็นราคาได้โดยง่ายในระดับที่ว่า รถวิ่งมาคนที่รอเรียกจะเห็นได้เลยว่า ราคาเท่าไหร่ (ซึ่งก็พอทำได้ แต่ถ้าให้ดีอาจจะต้องให้ vary ในลักษณะที่ไม่กระจัดกระจายเกินไป (ให้พอแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ อาจจะตามบริษัท)

    3) อีกอย่างที่คุยกันวันนั้นคือ ความต้องการใช้แท็กซี่เปลี่ยนตามเวลาด้วย เช่น เวลาเลิกงานกับเวลากลางดึก เวลาฝนตก ฯลฯ อาจจะใช้ร่วมกับการ deregulate คือ ปรับตามเวลาได้อีกต่อ หรือ regulate ราคาแบบ peak-load (ซึ่งอาจไม่รวมฝนตก) ก็ได้

    ReplyDelete
    Replies
    1. สำนวนแบบนี้ นี่ป่านใช่มั้ย

      Delete
  3. มองแค่ taxi อย่างเดียวไม่ได้ มันเชื่อมโยงกันหมดเป็นระบบขนส่งมวลชน ถ้ามีทางเลือกในการเดินทางมากว่านี้ (รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมขึ้น, รถเมล์ที่ดีขึ้น) taxi จะเปลี่ยนได้เอง

    แต่นั่นมันคงเป็นแค่ฝันหละ เพราะบริการขนส่งมวลชนแต่ละอย่างก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ taxi ราคาถูกเลยเข้ามาเติมเต็มส่วนนี้นั่นเอง

    ผมเองในตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไรกับ taxi ราคาถูกนะ (อาจเพราะไม่ได้อาศัยอยู่ในกทม.ด้วย) ไม่ว่าจะคำนวณยังไงแล้ว (แม้จะเพิ่มค่ารถให้อีกเที่ยวละ 20 บาทก็ตาม) มันถูกกว่าการมีรถยนต์ส่วนตัวเสียอีก แถมยังไม่ต้องหาที่จอดรถเอง ไม่ต้องปวดหัวกับการจำเส้นทางในกรุงเทพเองทั้งหมดด้วย

    ... ที่น่าแปลกใจจริงๆ คือวินมอไซค์ที่แพงพอๆ กับ taxi แม้จะบริการได้เร็วกว่าก็จริง แต่ชาตินี้ลาขาดละ ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่เลย

    ReplyDelete
  4. ผมว่าถ้ารถ Taxi เปิดโอกาสแต่ละ Brand(ไม่แน่ใจเรียกถูกป่าว) สามารถตั้งราคาเริ่มต้นได้ก็ดีนะครับ เช่น รถสีแดง เริ่มต้น 35 , รถสีดำเริ่มต้น 50 แต่ รถสีดำอาจจะเป็นรถใหม่กว่า บริการดีกว่า อะไรก็ว่าไปน่าจะช่วยได้นะครับแล้วก็ไม่น่าจะงงด้วย เพราะคน ก็จะจำ ลักษณะของรถแต่ละคันไว้

    ReplyDelete
  5. เห็นด้วยเป็นวิธีที่ถูกต้องอย่างยิ่งเลยครับ ผมแทบจะไม่เคยเห็นคนทั่วไปคิดด้วยตรรกกะและมองวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ (root cause)ในเว็ปต่างๆแบบคุณเลย ส่วนมากจะต่อว่าแท็กซี่เสียๆหายๆโดยไม่มีแม้แต่วิธีแก้ไข (solution) ผมพยายามเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยการปรับราคามิเตอร์ให้สูงขึ้น แต่เพราะผมอยู่ในธุรกิจแท็กซี่เลยถูกดูถูกดูแคลน จากผู้ใหญ่ในส่วนราชการและวิธีนี้ก็ถูกมองข้ามไปอย่างไม่เป็นธรรม ผมบอกอยู่เสมอว่ากิจกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการ (transaction)ผู้ซี้อและผู้ขายต้องตกลงยินยอมร่วมกัน ถ้าผู้ขายไม่ยินยอมบ่อยๆก็แสดงว่าราคาต่ำเกินไป ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆก็ต่อรองกันไปได้ แต่ราคาแท็กซี่มิเตอร์มันถูกควบคุมไว้โดยกรมการขนส่งทางบก ทางกรมขนส่งฯออกกฏมาปรับแท็กซี่ 1,000 บาทต่อกการร้องเรียน ผมบอกได้เลยว่านอกจากไม่แก้แล้วยังเพิ่มปัญหานี้อีกด้วยและไม่เป็นธรรมอย่างที่สุดหากเรามองมุมแท็กซี่ที่ถูกผู้โดยสารทิ้งเวลารถติด เค้าจะร้องเรียนเอาค่าปรับจากผู้โดยสารบ้างได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือแท็กซี่ต้องติดอยู่ในการจราจรที่ไม่ได้ค่ามิเตอร์เป็นชั่วโมง เมื่อปัญหานี้ถูกเพิกเฉย(จริง อย่างที่คุณว่า ธรรมดาของข้าราชการไทย)ประชาชนกับแท็กซี่ก็ต้องอยู่กับปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ผมรู้ว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยชันนำที่รับเงินรับงานจากกรมขนส่งฯ เพื่อศึกษาพิจารณาราคามิเตอร์ เป็นอาจารย์ที่อยู่กับตำรา ไม่ได้อยู่กับโลกความเป็นจริง จึงตั้งราคาที่เป็นปัญหาให้พวกเราๆท่านๆใช้กัน รู้ไหมว่ากดมิเตอร์ไปพัทยาได้ราคามิเตอร์แค่ 900 กว่าบาท ทั้งที่ราคาก่อนการปรับมิเตอร์ครั้งล่าสุดอยู่ที่ 1,500 บาท ผมเสนอว่าราคามิเตอร์นั้นต้องตั้งราคาเป็นช่วง ใกล้ กลาง ไกล โดยราคาเริ่มต้นต้องสูงหน่อย และให้ราคาระหว่างรถติดสูงขึ้น ก็จะทำให้แท็กซี่ไม่กลัวรถติดและการเสียโอกาสวิ่งระยะไกลขึ้น เพราะถ้าได้ลูกค้าอีกทีที่ไประยะสั้น ราคาต่อหน่วยยังสูงกว่าวิ่งไปไกลๆอีก สำหรับระยะกลาง ราคามิเตอร์ต่อกิโลต้องถูกลงเพื่อช่วยให้ราคาค่าโดยสารเป็นธรรมต่อผู้โดยสาร เนื่องจากระยะกลางแท็กซี่น่าจะผ่านช่วงรถติดไปได้และทำความเร็วเฉลี่ยได้สูงขึ้น ส่วนระยะทางไกลต้องแพงขึ้นอีกเพราะเมื่อแท็กซี่ส่งผู้โดยสารแล้วโอกาสจะหาผู้โดยสารต่อเนื่องลำบากต้องตีรถเปล่ากลับเข้ามาหาแหล่งที่มีผู้โดยสารหนาแน่น กรณีทางไกลนี้จะช่วยให้เกิดราคามาตรฐานแน่นอนเช่นกรณีออกต่างจังหวัด ซึ่งจะเป็นธรรมต่อทุกๆฝ่าย ผมอยากเสนออีกอย่างคือกรมขนส่งที่ดูแลแท็กซี่น่าจะปรับค่าโดยสารทุก สองหรือสามปีเหมือนในต่างประเทศที่ตั้งกันเป็น committee เพื่อให้ค่ามิเตอร์ตามค่าเงินเฟ้อทัน ไม่ใช่ปล่อยไปหลายๆปีค่อยมาปรับที นอกจากแท็กซี่จะกรอบแล้ว ผู้โดยสารก็ตกใจเพราะปรับทีมันขึ้นมามาก จากการที่ถูกทิ้งไว้หลายปีเกินไป ขออภัยที่ตอบมาซะยาวแต่ดีใจที่ยังมีคนไทยที่คิดแบบมีตรรกกะ ครับ ขอชื่นชม

    ReplyDelete