Sunday, 20 May 2012

ภาพโครงการ Soi Central ที่ Central World

[อัพเดต] ปัจจุบันโครงการดังกล่าวก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว และได้ใช้ชื่อว่า Groove @ Central World

Synthesis Design and Architecture หรือ SDA ดีไซน์สตูดิโอจากแคลิฟอร์เนียได้โพสภาพโครงการใหม่ของเครือเซ็นทรัลบน Facebook Wall ของเขา โดยโครงการนี้มีชื่อว่า "ซอยเซ็นทรัล" (Soi Central) 



จากภาพผมพอจะเดาได้ว่าโครงการนี้จะอยู่ตรงลานด้านหน้าของอาคาร Offices @ Central World ข้าง ๆ ทางเชื่อมจาก Skywalk เข้าสู่ตัวห้าง Central World โดยดูจากภาพก็ขอเดาอีกว่าโครงการดังกล่าวน่าจะสร้างเป็นแนวที่ให้พนักงานออฟฟิศลงมาหาอะไรดื่มหลังจากทำงานเสร็จ อาจจะเป็นผับหรือบาร์ ซึ่งนี่ไม่ใช่เร่ืองแปลกอะไรเพราะอาคาร mixed use แบบนี้ในต่างประเทศเช่น Roppongi Hills ในโตเกียวหรือ IFC ที่ฮ่องกงก็จะมีบริเวณแบบนี้เช่นกัน แต่ก็ไม่แน่ เพราะข้าง ๆ เป็นวัด อาจจะมีกระแสต่อต้านถ้าทำจริง

Thursday, 17 May 2012

5 บทเรียนธุรกิจสำคัญจากสตีฟ จ็อบส์ จากหนังสือ Insanely Simple: The Obsession That Drives Apple’s Success

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับสตีฟ จ็อบส์อีกเรื่อง Insanely Simple: The Obsession That Drives Apple's Success โดย Ken Segall จบแล้ว โดยหนังสือเรื่องนี้จะไม่เน้นบอกเรื่องราวของสตีฟ จ็อบส์มากมายเหมือนกับชีวประวัติของสตีฟ จ็อบส์อีกเล่ม แต่จะเน้นเรื่อง Simplicity หรือความเรียบง่าย ซึ่งสตีฟ จ็อบส์ได้นำมาใช้ในการดำรงชีวิตและการบริหารธุรกิจที่แอปเปิล และกลายเป็นสิ่งที่ทำให้แอปเปิลประสบความสำเร็จทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้จะให้ความสำคัญเรื่องในเรื่องธุรกิจเป็นส่วนใหญ่


อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เราจะรู้เลยว่ารูปแบบการบริหารของบริษัทใหญ่ยักษ์หลายแห่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีศักยภาพ แต่กลับมีอะไรซักอย่างมาปิดกั้นไม่ให้บริษัทเหล่านั้นสามารถปลดล็อคศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ได้ โดยทั้งหมดนี้อยู่ที่สไตล์ในการบริหารจัดการ และโครงสร้างของบริษัท ซึ่งแอปเปิลมีวิธีการดำเนินการไม่เหมือนใคร จนถึงวันที่สตีฟ จ็อบส์ตาย แอปเปิลยังคงบริหารบริษัทไม่ต่างกับบริษัทเล็ก ๆ ที่ใช้แนวการบริหารลักษณะกึ่งเผด็จการเล็กน้อย คือว่าง่าย ๆ ทุกอย่างต้องผ่านการตัดสินใจจากบุคคลที่มีอำนาจ เช่น สตีฟ จ็อบส์, ทิม คุก, สก็อต ฟอร์สตอลหรือจอนนี่ ไอฟว์ แต่บุคคลเหล่านี้ กลับมีส่วนร่วมใน thought process เกือบทุกขั้นตอนเช่นกัน

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ มันมีเรื่องที่ไม่เหมือนใครเกี่ยวกับแอปเปิลและสตีฟ จ็อบส์อยู่ 5 อย่างที่ผมเห็นด้วย และคิดว่ามันคงจะเป็นประโยชน์กับบริษัทที่เราอยู่ หรือแม้กระทั่งสังคมของเรา ผมขอเรียกสั้น ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น "บทเรียน" จากหนังสือเล่มนี้ละกันครับ

Wednesday, 16 May 2012

Pocket Wi-Fi เที่ยวญี่ปุ่นพกอินเทอร์เน็ตไปได้ทุกที่


เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาครอบครัวผมได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นมาครับ โดยก่อนไปเที่ยวสิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือการขาดอินเทอร์เน็ต เพราะว่าประเทศญี่ปุ่นอย่างที่รู้กันเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีมือถือไม่เหมือนชาวบ้านเขาซักเท่าไหร่ และเท่าที่ทราบมาเป็นประเทศที่โรงแรมหลาย ๆ แห่งไม่ได้มีบริการอินเทอร์เน็ตให้ฟรี แถมไม่พอร้านกาแฟต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีบริการ Free Wi-Fi อีกด้วย ยิ่งเมื่อเช็คค่าบริการแต่ละที่ ก็บอกได้เลยว่ามันราคาไม่ย่อมเยาว์กันเลย

สุดท้ายก็ก็ได้ตัดสินใจที่จะใช้บริการเช่าอุปกรณ์ Pocket Wi-Fi หรืออุปกรณ์เล็ก ๆ ที่รับคลื่นมือถือออกมาปล่อยเป็น Wi-Fi ต่อให้อุปกรณ์ของเราอื่น ๆ อีก 5 เครื่องสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้แทนจากเว็บ Global Advanced Comm ซึ่งเพื่อนผมที่เป็นชาวญี่ปุ่นที่ย้ายไปอยู่ออสเตรเลียแล้วแนะนำมา เมื่อเช็คราคาดูก็ไม่แย่เลยครับ และเมื่อเทียบกับความสะดวกสบายแล้วมันคุ้มค่าแน่นอน ถ้ามาดูค่าเน็ตที่โรงแรมคิดแล้วจะเห็นเลยว่าเช่ามือถือนี้เป็นอะไรที่ no-brainer มาก ๆ อ้อ คราวนี้ผมไปเที่ยวกับครอบครัวครับ ซึ่งพ่อผมก็ต้องใช้ Skype ตลอดเพื่อทำงาน ส่วนแม่ก็เป็นคนคอยวางแผนการเที่ยวตลอดเวลา ยิ่งทำให้การตัดสินใจเช่า Pocket Wi-Fi กลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย



Monday, 14 May 2012

H&M จะเปิดสาขาแรกในไทยที่สยามพารากอน ตุลาคมนี้

เห็นคนไทยหลาย ๆ คนก่อนหน้านี้ตื่นเต้นกับการเปิดสาขาของแบรนด์เสื้อผ้าราคาถูกจากญี่ปุ่น Uniqlo แล้ว ก็พอจะเดาได้ว่าตลาดเสื้อผ้าวัยรุ่นที่มีราคาไม่สูงมากนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงจะใหญ่พอที่จะเข้าเจ้าของแบรนด์กลุ่มนี้ ไม่น่าแปลกเลยที่ในระยะเวลาไม่ห่างกันมากนัก H&M แบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่นราคาไม่แพงจากประเทศสวีเดนก็สนใจที่จะเปิดสาขาในแถบภูมิภาคนี้แล้วเหมือนกัน


ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ H&M จะมาเปิดสาขา แต่ประเทศอาเซียนอื่น ๆ อย่างมาเลเซียและอินโดนิเซียก็จะมีร้าน H&M ไปพร้อม ๆ กับเราด้วยเช่นกัน โดยทาง H&M เองได้แต่งตั้งตัวแทนรายเดียว (J.S. Gills) ให้ดูแลการบริหารจัดการสาขาและทำการตลาดทั่วทั้งภูมิภาคของเรายกเว้นสิงคโปร์กับฮ่องกง

H&M เป็นแบรนด์ที่รู้จักกันดีในหมู่เสื้อผ้าวัยรุ่น ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งราคาใกล้เคียงกับ Uniqlo และสินค้าของตัวเองก็ไม่เน้นการติดหรือพิมพ์ยี่ห้อของตัวเองออกมาโชว์ (ซึ่งจุดนี้ผมเห็นว่ามันสำคัญมาก ๆ) แต่เสื้อผ้าของ H&M จะเน้นแฟชั่นทันสมัยมากกว่าความเรียบง่ายของ Uniqlo เหมาะสำหรับคนที่ต้องการแต่งตัวที่ชอบเอาของหลาย ๆ ยี่ห้อมาใส่ประกอบกับ (คนไทยชอบเรียก mix and match) และอีกสิ่งที่ H&M​ ดังอย่างมากคือพวก accessories ราคาถูกอย่างสร้อยคอ รองเท้า กับหมวก ว่าง่าย ๆ H&M ก็คือ TOPSHOP ราคาถูกกว่าหน่อยนั่นเอง

H&M สาขาแรกของเมืองไทยจะเปิดสาขาแรก ซึ่งเป็นช็อปที่มีขนาดใหญ่สองชั้น ที่สยามพารากอน ในเดือนตุลาคม 2012 ที่จะถึงนี้ โดย H&M จะเปิดตรงข้าม ZARA 

ส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าสำหรับเมืองไทย หรือภูมิภาคของเรา เรามีตลาดเสื้อผ้าที่แตกต่างจากประเทศตะวันตกอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของตัวเลือก สไตล์ และระดับราคา ซึ่งถ้าจะให้เปรียบเทียบแล้วผมเชื่อว่าเรามี spectrum ที่กว้างกว่ามาก ถึงแม้เราอาจจะหาแบรนด์ที่แพงสุด ๆ ยากกว่าหน่อยก็ตาม แต่ตัวเลือกของเราเยอะกว่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณมาตรการควบคุมดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศที่แย่ (ซึ่งในระยะสั้นไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ระยะยาวไม่อย่างแน่นอน) การมาของ H&M ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับคนที่ต้องการซื้อสินค้าที่่มีคุณภาพพอใช้ได้ สไตล์ที่ทันสมัยแบบสากล ในราคาที่พอเรียกได้ว่า "สมราคา" เช่นเดียวกับการมาเปิดร้านในเมืองไทยก่อนหน้านี้ของ Uniqlo, ZARA และ Forever 21

ของแถม: ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ H&M ในแถบเอเชีย

- จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง สาขาแรกเปิดปี 2007 ตอนนี้มี 89 สาขา
- อินโดนิเซีย สาขาแรกจะเปิดต้นปี 2013 ในกรุงจาการ์ตา เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชีย บริหารโดยแฟรนไชส์ J.S. Gills
- ญี่ปุ่น สาขาแรกเปิดปี 2008 ตอนนี้มี 15 สาขา
- มาเลเซีย สาขาแรกจะเปิดภายในปี 2012 ที่กรุง KL
- สิงคโปร์ สาขาแรกและสาขาเดียวเปิดปลายปี 2011 โดย H&M บริหารเอง
- เกาหลีใต้ สาขาแรกเปิดปี 2010 ตอนนี้มีทั้งหมด 7 สาขา โดย H&M บริหารเอง

Sunday, 13 May 2012

TOT: เสือพิการนอนกินจนชิน ตายแล้วไม่รู้ตัว


  • มีบริษัทไหนในโลกที่แผนธุรกิจผิดพลาด ถึงขั้นที่ว่าลูกค้าน้อยกว่าคาด 10 เท่า รายได้น้อยกว่าคาด 14 เท่า แต่กลับไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบ ไม่มีแม้แต่พนักงานคนเดียวหรือแม้กระทั่งฝ่ายการตลาดที่ได้รับการลงโทษ หรือถูกไล่ออก?
  • มีบริษัทไหนในโลกที่อยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมแต่พนักงานขายและบริการขอตัวปิดร้านเพื่อไปทานข้าวเที่ยงตั้งแต่ 11 โมงเช้ายันบ่ายโมงตรง?
  • มีบริษัทไหนในโลกที่ทำธุรกิจโทรคมนาคมแล้วไม่การประกาศแปลน เพ็กเกจให้บริการ หรือโปรโมชั่นให้กับลูกค้าทราบโดยท่ัวกันผ่านทางเว็บ?
ถ้าคุณตอบว่า TOT น่ันคือคำตอบที่ถูกต้อง

เคสของ TOT เป็นกรณีตัวอย่างที่สนับสนุนเหตุผลว่าทำไมประเทศทุกประเทศ จะต้องทำการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจ (state enterprise) ให้กลายเป็นบริษัทแสวงหาผลกำไรอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการประมูลขายกิจการ หรือจับรัฐวิสาหกิจเหล่านี้หั่นออกเป็นบริษัทเล็กย่อยลง แล้วปล่อยให้แข่งขันกันเองอีกที

หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจอย่าง TOT, CAT Telecom และการบินไทยกลายเป็นตัวสร้างปัญหาและเป็นภาระทางภาษีให้กับคนในประเทศชาติมากมายอย่างนี้ ทำไมเราถึงต้องตั้งรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ขึ้นมาในตอนแรก
คำตอบจริง ๆ แล้วก็คือเมื่อก่อนมันเป็นความจำเป็นครับ

เพราะว่าธุรกิจเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจประเภท public service หรือว่าง่าย ๆ เป็นบริการสาธารณะ ซึ่งหากรัฐไม่ทำการลงทุนและริเริ่มก่อน จะไม่มีเอกชนรายใดสนใจที่จะริเริ่มให้บริการดังกล่าว เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องกำไร รวมไปถึงความไม่แน่นอนในเรื่องศักยภาพความสามารถของตัวเอง และเทคโนโลยีหรือวิธีการในการทำธุรกิจนั้น ๆ

แต่ในตอนนี้ เราสามารถสังเกตได้เลยว่าธุรกิจของรัฐทั้งหลาย มีเอกชนสนใจเข้ามาเป็นผู้เล่นในฉากแล้ว ตั้งแต่ธุรกิจไปรษณีย์ จนไปถึงการบิน เราจึงไม่จำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องมีสายการบินประจำชาติ แล้วใช้ภาษีของคนทั้งประเทศมาอุ้มไม่ว่าประชาชนผู้เสียภาษีเหล่านี้จะไม่เคยได้ใช้บริการของการบินไทยเลยก็ตาม

ตอนนี้คำถามที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าเราควรจะรับภาระทางการเงินให้กับบริษัทที่ด้วนทั้งแขน ขา และสมองอย่าง TOT อยู่หรือไม่ และอะไรทำให้บริษัทนี้ยังคงสถานะเป็น "รัฐวิสาหกิจ" อยู่ และทำไมพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่อาจจะถูกลงโทษจากความผิดพลาดของตัวเองได้

ในโลกธุรกิจจริง บริษัทนี้อาจจะเสียพนักงานไป 80% แล้วก็ได้ หากประเมินตาม performance และ output ที่เราเห็น

ทุกวันนี้ที่ TOT เป็นอยู่ เราอาจจะต้องใช้คำบรรยายของภาพนี้อธิบายแทนจะสะดวกกว่า